ธปท. ชี้ การเพิ่มกรอบเงินเฟ้อไม่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยโต แต่จะเป็นการทำให้ราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มภาระให้กับประชาชน และทำให้เงินเฟ้อผันผวนจนวางแผนทำธุรกิจยากขึ้น มองกรอบปัจจุบันเป็นกลางเหมาะสำหรับสภาพเศรษฐกิจประเทศ ควรแก้ปัญหาโครงสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มงานเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดการแถลงข่าวถึงประมาณการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยสำหรับครึ่งปีหลังและปี 2568 ของธปท. และประเด็นสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมี นาย ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน, นาง ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และ นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน เป็นผู้ให้ข้อมูลและตอบคำถามแก่สื่อ
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีความพยายามที่จะผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 1-3% เป็นสูงขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบายของประเทศ และสามารถลดดอกเบี้ยได้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบแล้วที่ 1.54% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สำหรับกรณีนี้ นาย สุรัช ได้แสดงความคิดเห็นแก่สื่อมวลชนว่า กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันเป็นกรอบเงินเฟ้อที่ธนาคารกลาง ประเมินแล้วว่า ได้ทำหน้าที่ได้ดี และเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันแล้ว เพราะช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคงระดับในช่วง 2% แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะสูงขึ้นในช่วงปี 2565
โดยมองว่า การเพิ่มกรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากปรับขึ้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ทำให้ประชาชนมีรายได้ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลดลง และซ้ำเติมความลำบากของประชาชน เพราะราคาสินค้าในขณะนี้ได้ปรับสูงขึ้นมากแล้วในช่วงหลังโควิด และการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเพื่อเพิ่มเงินเฟ้อนั้นยังจะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มขึ้น
ด้าน นาย ปิติ มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับหน้าที่ของกรอบเงินเฟ้อ คือ การสร้างเสถียรภาพการเงิน และทำให้สิ่งแวดล้อมมีความเหมาะสมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว เพราะระดับเงินเฟ้อที่สูงเกินไปจะปั่นป่วน ควบคุมยาก และเป็นอุปสรรคของการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับข้อสังเกตที่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยโตไม่ได้เท่าที่ควร เพราะนโยบายการเงินของธปท. ตึงเกินไปนั้น นายปิติ มองว่า การเพิ่มกรอบเงินเฟ้อ และปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมองว่าเป็นแนวทางที่ไม่เกี่ยวโยงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อ ถือเป็นปัจจัยรองในการสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานที่สามารถเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจให้เติบโตได้
นอกจากนี้ นายปิติ ยังให้ความเห็นว่า การเพิ่มกรอบให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นการบิดเบือนราคาสินค้า เพราะสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยคงระดับค่อนข้างต่ำมาตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือการที่ ‘จีน’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตและระบบการค้าของโลก และผลิตสินค้าราคาต่ำออกมาในตลาด เป็นแรงกดดันทำให้ราคาสินค้าของไทยต้องปรับตัวมาแข่ง
ดังนั้น หากธปท. กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยไม่พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงแล้ว จะส่งผลให้ราคาสินค้าบางประเภท อาจจะถูกดันให้สูงขึ้นเกินจากระดับที่ควรจะเป็น และส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การทำธุรกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ และการดำเนินชีวิตของประชาชน มากกว่าที่จะเป็นการส่งเสริม หรือพัฒนาให้ดีขึ้น และถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินที่เป็นเครื่องมือหลักในการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ ไม่ใช่เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะเป็นนโยบายด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาล
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ธปท. มองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว โดยในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ประมาณ 2.6% และ เพิ่มขึ้นไปเป็น 3% ในปี 2568 และนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 35.5 ล้านคนในปี 2567 และ 39.5 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ภาคการผลิตและการส่งออกยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีศักยภาพและความสามารถในการผลิตสินค้าที่ตรงกับดีมานด์ของต่างประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และปิโตรเคมี
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันนี้ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้แรงงานในแต่ละภาคอุตสาหกรรมไม่เท่ากันด้วย โดยภาคส่วนที่การจ้างงานและรายได้ฟื้นตัวดีขึ้นคือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่รายได้และการจ้างงานของพนักงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างมีแนวโน้มถดถอย
นอกจากนี้ การฟื้นตัวยังแตกต่างกันในกลุ่มอาชีพ พื้นที่ และกลุ่มรายได้ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อมั่น โดยกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าที่สุด คือ กลุ่มประกอบอาชีพอิสระในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ รับเหมาก่อสร้าง และขนส่งผู้โดยสาร และกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีที่สุด คือ กลุ่มแรงงานในกทม. ปริมณฑล ภาคกลาง และกลุ่มผู้บริโภครายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง หรือมากกว่า 10,000 บาท ต่อเดือน ขึ้นไป
การฟื้นตัวของรายได้และการจ้างงานในบางอุตสาหกรรมและภาคส่วนทำให้แรงงานจำนวนมากมีรายได้และเงินเก็บไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ส่งผลให้หนี้เสีย (NPL) มีอัตราสูงขึ้นตามคาด โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ส่วนมากเป็นหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังชะลอการปล่อยสินเชื่อลง แต่ไม่ได้เป็นเพราะธนาคารปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้สูงขึ้น แต่คุณภาพของผู้ขอสินเชื่อนั้นต่ำลง ทั้งจากระดับรายได้ และความมั่นคงทางอาชีพ ทำให้ธนาคารตัดสินใจไม่ปล่อยสินเชื่อให้
ธปท. มองว่า ปัญหารายได้ หนี้สิน และการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะเมื่อประชาชนไม่มีรายได้ และธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจต่างๆ ก็จะขายสินค้าและบริการได้ลดลง ทำให้ผลประกอบการลดลง ซึ่งจะส่งผลกลับมาที่แรงงานที่เสี่ยงจะไม่ได้รับรายได้เพิ่ม หรือเสี่ยงสูญเสียงาน
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน รัฐบาลควรเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ทั้งด้านเทคโนโลยี และทักษะของคน เพื่อให้ไทยสามารถผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของโลกได้ ซึ่งปัจจุบันล้วนแต่เป็นสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิตทั้งสิ้น หรือแม้แต่เพิ่มผลิตผลและมูลค่าของภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย