เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เริ่มออกมาตรการกีดกันสินค้าจีนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและผู้ผลิตในประเทศ มองจีนส่งออกสินค้าราคาถูกมายังอาเซียนมากขึ้น หลังสงครามการค้าระหว่างชาติตะวันตกเริ่มรุนแรง แต่นักวิเคราะห์คาดไม่กีดกันรุนแรงเท่าสหรัฐฯ หรือชาติยุโรป
ปัจจุบัน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ ชาติตะวันตก และจีน เริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการค้า และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั่วโลก เพราะเมื่อจีนส่งออกสินค้าไปชาติตะวันตกได้ลดลงจากมาตรการกีดกันการค้าต่างๆ เช่น กำแพงภาษี จีนก็หันมาทำการค้าและส่งออกสินค้ามายังประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น
โดยข้อมูลจากหน่วยงานศุลกากรของจีน ระบุว่า ในเดือนกรกฏาคม แม้มูลค่าการส่งสินค้าของจีนจะชะลอการเติบโตลงเหลือเพียง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าส่งออกสินค้าจากจีนไปชาติอาเซียนกลับเพิ่มขึ้นถึง 12.15% และคิดเป็นถึง 15.8% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของจีนในเดือนกรกฎาคม
ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เพิ่มขึ้นผ่านโครงการ Belt and Road Initiative และการลงทุนอื่นๆ ทำให้ชาติอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนแทนที่สหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2020
ในขณะเดียวกัน ชาติอาเซียนต่างๆ ก็ขาดดุลการค้ากับจีนมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออก โดยในปี 2022 ชาติอาเซียนขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็นถึง 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 4.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนกลยุทธ์ของประเทศจีนที่หันมาส่งออกสินค้ามายังประเทศอาเซียนมากขึ้นเพื่อทดแทนอัตราการส่งออกไปชาติตะวันตกที่ลดลง ซึ่งเมื่อประกอบกับการบริโภคภายในประเทศจีนที่ลดลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มซบเซาแล้ว จีนก็มีแนวโน้มที่จะผลักดันสินค้าที่ผลิตได้เกินความต้องการในประเทศออกมานอกประเทศมากยิ่งขึ้น
เพื่อลดผลกระทบของสินค้าจีนที่จะมีต่ออุตสาหกรรมในประเทศ และลดการพึ่งพาสินค้าและชิ้นส่วนในการผลิตสินค้าต่างๆ ของจีน หลายชาติอาเซียน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียเริ่มออกมาตรการกีดกันสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่จีนมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน และส่งออกได้มากอย่างโลหะ
ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาประกาศแผนตั้งกำแพงภาษีสูงสุด 200% สำหรับการนำเข้าสินค้าจีนบางประเภท เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพราะกังวลว่ารัฐบาลจีนจะหันมาทุ่มสินค้าราคาถูกใส่ หลังความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและชาติตะวันตกย่ำแย่ลงต่อเนื่อง ขณะที่ในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ประกาศลดกำแพงการค้ากับญี่ปุ่น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาประกาศว่าจะออกกฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด (anti-dumping) ในปีหน้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม ที่เกิดจากการทุ่มตลาด หรือการมุ่งส่งออกสินค้าราคาถูกเข้าไปในประเทศอื่นเพื่อครองตลาด
ล่าสุด ในสัปดาห์เดียวกัน รัฐบาลเวียดนามก็ได้ออกมาประกาศสืบสวนการทุ่มตลาดของจีนเช่นเดียวกัน เพราะมองว่าจีนมีพฤติกรรมส่งออกเหล็กแผ่นม้วนราคาถูกจำนวนมากเข้าไปในเวียดนาม จนอาจเป็นการบิดเบือนราคาตลาด และทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศได้รับผลกระทบ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 จีนส่งออกโลหะไปเวียดนามคิดเป็นถึง 11.9% ของมูลค่าการส่งออกโลหะของจีนทั้งหมดในช่วงเวลานั้น
ท่าทีของชาติอาเซียนต่อจีนที่เริ่มแข็งกร้าวขึ้นสะท้อนความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหันมาเพิ่มมาตรการกีดกันสินค้าจากจีนบ้าง หากจีนยังไม่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการค้า และเลิกการทุ่มตลาดด้วยการเน้นส่งออกสินค้าราคาถูกเพื่อครองตลาดประเทศอื่น
ทั้งนี้ Deborah Elms หัวหน้าด้านนโยบายการค้าที่ Hinrich Foundation มองว่า แม้ชาติอาเซียนจะหันมาออกมาตรการกีดกันสินค้าจีนกันมากขึ้น มาตรการนั้นก็ไม่น่าจะรุนแรงเท่ามาตรการของสหรัฐฯ และชาติยุโรป โดยประเทศอาเซียนมีแนวโน้มจะเน้นกีดกันสินค้าบางประเภทที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมถึงมุ่งดึงดูดการลงทุน และพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศมากกว่า
ตั้งแต่ต้นปี 2024 หลายประเทศทั่วโลกได้ทำการสืบสวนและร้องเรียนพฤติกรรมทุ่มตลาดของจีน โดยในช่วงเดือน มกราคม - กรกฎาคม China Trade Remedies Information หน่วยงานภายใต้กระทรวงพานิชย์ของจีนได้คำร้องสืบสวนพฤติกรรมการค้าของจีนจากคู่ค้าถึง 96 เรื่อง เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 63 เรื่องในปี 2023
โดยใน 96 คำร้องนั้น พบว่า เป็นคำร้องเกี่ยวกับการทุ่มตลาดของจีนถึง 74 เรื่อง เป็นคำร้องของเวียดนาม 2 เรื่องเกี่ยวกับการส่งออกโลหะ เป็นคำร้องของไทย 1 เรื่องเกี่ยวกับการส่งออกอะลูมิเนียม และเป็นคำร้องจากสหรัฐฯ อินเดีย และสหาภาพยุโรปมากที่สุด
ที่มา: SCMP