Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ค่าเงินบาทแตะ 33 บาทแข็งสุดรอบ 13 เดือนธปท.ชี้ยังทิศทางเดียวกับภูมิภาค
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ค่าเงินบาทแตะ 33 บาทแข็งสุดรอบ 13 เดือนธปท.ชี้ยังทิศทางเดียวกับภูมิภาค

28 ส.ค. 67
07:53 น.
|
2.1K
แชร์

ค่าเงินบาทวันนี้ที่ระดับ  33.98 บาทต่อดอลลาร์ ทะลุมาแตะระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นระดับที่ “แข็งค่าขึ้นมาก” แข็งค่ามากสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2566

เป็นผลจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) จากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ล่าสุด ที่ไม่เพียงทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้

img_0764

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาถือว่ารับรู้ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าไปมากแล้ว และระดับเงินบาทแถว 33.75-34 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าใกล้ระดับ fair value ของเงินบาทที่ประเมินไว้ล่าสุด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ชัดเจนเพิ่มเติม 

โดยทำให้มองว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่อาจจะกลับไปอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากที่ล่าสุดเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 1.00% bps ในปีนี้ และอาจมีบางการประชุมที่เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -0.50% 

รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 6 กันยายนนี้ โดยหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก และอัตราการว่างงานยังคงอยู่แถว 4.3% หรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย 

“มองว่าเฟดอาจเพียงทยอยลดดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25% ในปีนี้ รวมเป็นการลดดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งในกรณีนี้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาทได้ไม่ยาก แต่หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอลงหนัก จนอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นทะลุระดับ 4.4% ขึ้นไป เฟดก็มีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งอาจกดดันเงินดอลลาร์ได้บ้าง แต่จะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนั้น ว่าตลาดกังวลประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอลงหนัก จนทำให้ตลาดเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หรือไม่ เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงหนักในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง” คุณพูน กล่าว

นอกจากนี้ ยังคงมองว่า ในช่วงใกล้การเลือกตั้งสหรัฐฯ +/- 1 เดือนนั้น เงินบาทก็มีแนวโน้มผันผวนไปตามปัจจัยเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ โดยจากสถิติการเลือกตั้งในปี 2016 พบว่า ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งปี 2016 ได้กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบ 3% ภายในช่วง 1 เดือนหลังรู้ผลการเลือกตั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ 

โดยการเลือกตั้งในปีนี้ ผลกระทบในกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะได้นั้น อาจคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งปี 2016 โดยเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้จะแตกต่างจากปี 2016 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟดนั้นแตกต่างกันชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงบ้าง แต่คงไม่ถึงขนาดอ่อนค่า 3% ภายใน 1 เดือนหลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง ในกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์คว้าชัยชนะได้ 

อย่างไรก็ตาม หลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไปแล้วนั้น และมีมุมมองเดิมว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ รวมถึง ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น ซึ่งในช่วงปลายปีจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าแถวระดับ 34-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปีได้อีกครั้ง 

สำหรับความเสี่ยงต่อคาดการณ์ดังกล่าว จะอยู่ที่แนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งยังคงมุมมองเดิมว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตลอดทั้งปีนี้ แต่หาก ธปท. ทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วขึ้นและมากกว่าที่คาด ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าคาดได้

โดยน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้กับ “SPOTLIGHT” ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเป็นระยะสั้นมากๆ และมองเงินบาทพักตัว สร้างฐานใหม่บริเวณ 34.00 บาทต่อดอลลาร์นี้ และได้มีการตลาดซึมซับแนวโน้มเฟดลดดอกเบี้ยไปหมดแล้ว ความไม่แน่นอนจึงมาในรูปของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับระดับของการชะลอตัว และคาดว่าแย่กว่าคาดบ้าง แย่น้อยกว่าคาดบ้าง แต่ภาพระยะกลางยังมองบาทแข็งค่าได้ต่อสู่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะการเมืองสหรัฐฯมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น

ธปท.ชี้ค่าเงินบาทยังทิศทางเดียวกับภูมิภาค

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ค่าเงินบาทไทยในขณะนี้แม้ว่าจะเห็นในระดับที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว แต่เมื่อพิจารณาการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทไทย หลักมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลง และปัจจัยราคาทองที่คนไทยมีการซื้อขายทองกันค่อนข้างมากในปีนี้

แต่ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ไม่ได้อ่อนค่า และแข็งค่าจนเกินไป ซึ่งธปท.ไม่ได้มีการเข้าไปทำอะไร แต่มีการติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ถือเป็น 0% เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีมานี้ค่าเงินบาทไทยค่อนข้างผันผวนมาก มีการปรับตัวอ่อนค่าลงมาก และปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก แต่หากมองในแง่มุมของค่าความผันผวนของค่าเงินบาทไทยในปีนี้ แม้จะมีความผันผวนแต่ค่าความผันผวนเป็นตัวเลขหลักเดียว เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ค่าความผันผวนเป็นตัวเลขสองหลักขึ้นไป

แชร์

ค่าเงินบาทแตะ 33 บาทแข็งสุดรอบ 13 เดือนธปท.ชี้ยังทิศทางเดียวกับภูมิภาค