มหากาพย์ดิไอคอน กรุ๊ป ยังไม่จบบริบูรณ์!เพราะขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังทำการรวบรวมข้อมูลขยายผลเพิ่มเติมทั้งเส้นทางการเงินของเหล่า18 บอส รวมไปถึงหลักฐานอื่นๆที่ทยอยออกมามากขึ้น เช่น คลิปต่างๆที่อยู่ในโทรศัพท์ของ ‘ บอสพอล ’ อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดีนี้ และเป็นไปได้ที่ผู้กระทำความผิดอาจไม่ได้มีแค่บรรดาเหล่าบอสเท่านั้น!
ในขณะที่ระหว่างนี้ผู้ต้องหาบอสทั้ง 18 รายของดิไอคอน กรุ๊ป ยังไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง รวมไปถึงการถูกอายัดทรัพย์สินเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยปปง.อีกด้วย
ความเห็นของคนในสังคมขณะนี้อาจรอติดตามกันว่า คดีดิไอคอน กรุ๊ป จะจบอย่างไร? ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษหนักแค่ไหน ? SPOTLIGHT รวมรวบข้อมูลทางกฏหมายรวมไปถึงได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พีท-พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางการเงิน CFP ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk ได้อธิบายให้เราได้เห็นภาพชัดเกี่ยวกับกฏหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่กระทำความผิดในคดีดิไอคอน กรุ๊ป
สำหรับผู้ต้องหาเหล่าบอสทั้ง 18 รายที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานี้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน เป็นไปตามกฏหมายอาญาและร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือ บางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ซึ่งจะเห็นได้ว่า 2 ข้อหานี้ยังไม่ไช่การระบุถึงความผิดที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่เลย โดยหากเป็นความผิดในกฏหมายแชร์ลูกโซ่จริง บทลงโทษหนักกว่า 2 ข้อหาที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันแน่นอน แต่เพราะความผิดตามกฏหมายแชร์ลูกโซ่นั้น มีความซับซ้อนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการรวบรวมพยานหลักฐานให้แข็งแกร่ง แน่นหนาก่อนทำการสั่งฟ้อง
ดังนั้นหากไล่เรียงกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกรณี 2 ข้อหาในปัจจุบันและในอนาคตมีโอกาสที่อาจจะถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมได้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบพยานหลักฐานมีความผิดที่ชัดเจนเพิ่มเติม ทำให้รายละเอียดของกฏหมายและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับกรณีของดิไอคอน กรุ๊ป มีความเป็นไปได้ดังนี้
มาตรา 341 บัญญัติไว้ว่า “ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนมาตรา 343 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การสร้างข้อมูลเท็จเพื่อหลอกให้ลงทุน การใช้ข้อมูลที่บิดเบือน และการชักชวนผ่านเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียก็เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 14 และ 15
มาตรา 14 ระบุว่า “ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1)โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (๑) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา 15 ระบุว่า ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด ตามมาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้อง รับโทษ”
อย่างไรก็ตามความท้าทายของการทำคดี ดิไอคอนกรุ๊ป มุมมองดร.พีท พีระภัทร ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีที่ค่อนข้างยากเนื่องจากเชื่อว่า บอสพอล น่าจะมีที่ปรึกษาทางกฏหมายในการทำธุรกิจมาเป็นอย่างดี กรณีความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นเช่น พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง 2540 รวมไปถึง กฏหมายแชร์ลูกโซ่ หรือ ชื่อเต็มคือ พระราชกำหนดการ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
มาตรา 4 ระบุว่า ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทําด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจ จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนําเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียน ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนํามาจ่ายในอัตรานั้นได้และในการ นั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทําความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ส่วนมาตรา 5 เป็นความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนฯ ตามลักษณะของมาตรา 4 ขณะที่ มาตรา 12 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ทั้งนี้หากย้อนดูในอดีตที่ผ่านมาคดีแชร์ลูกโซ่ชื่อดัง อย่างแชร์แม้ชะม้อย นางชม้อย ทิพย์โส หรือประเสริฐศรี กับพวกซึ่งถูกศาลพิพากษาว่านางชม้อยกับพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนรวมความผิดกว่า 3 พันกระทง รวมจำคุกคนละเกือบ 40,000ปี
แต่ประมวลกฎหมายอาญาระบุให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี และให้นางชม้อยกับพวกร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงด้วย แต่นางชม้อย จำคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน เพราะได้รับการลดโทษลง 2 ครั้ง และพ้นโทษในปี 2536
“หากดิไอคอนกรุ๊ป มีความผิดกฏหมายแชร์ลูกโซ่จริง ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษหนักจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี และในระยะหลังคดีความที่เป็นความผิดคดีแชร์ลูกโซ่ มีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมร้ายแรง ยากที่จะได้รับการลดโทษ” ดร.พีระภัทร กล่าวในรายการ SPOTLIGHT Live Talk
ในขณะที่ปัจจุบันจำนวนผู้เสียหายที่มาแจ้งความทั่วประเทศพุ่งสูงเกินกว่า 2,000 พันรายแล้วหลังจากที่บอสพอลถูกจับ ดังนั้น กฏหมายแชร์ลูกโซ่นี้จึงมีความสำคัญมากต่อคดีดิไอคอนกรุ๊ป ที่สุดท้ายแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดจะต่อสู้คดีชนะหรือแพ้ ต้องติดตามกันต่อไป
มาตรา 19 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดําเนิน กิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือ ในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วม เครือข่ายดังกล่าวซึ่งคํานวณจากจํานวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น”
โดยผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา19 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้สังคมกำลังตั้งคำถามกับกรณีของ ดิไอคอน กรุ๊ป เช่นกันว่า เหตุใดเรื่องนี้จึงเกิดแดงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่บริษัทได้ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางสคบ.ระบุว่า เคยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของดิไอคอน กรุ๊ป มาแล้วตั้งแต่ 2561 แต่เรื่องก็เงียบไป
มหากาพย์ดิไอคอน กรุ๊ป จึงเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในสังคมไทยที่คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในปัจจุบัน และป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดความความสูญเสียของประชาชนเช่นนี้อีกในอนาคต เพราะมากกว่าบอสพอลยังมีใครเป็นผู้ร่วมทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนนับพันคนหรือไม่...เราไม่อยากเห็นคนไทยถูกหลอกซ้ำๆด้วยกลุ่มคนหรือวิธีการแบบเดิมๆอีกต่อไป
รับชมการสัมภาษณ์ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางการเงิน CFP ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk
ที่มาข้อมูลบทความ เว็บไซต์ราชกิจจา , TDRI ,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม , กรุงเทพธุรกิจ