‘เผ่าภูมิ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ 2.7-2.9% และคาดว่าในไตรมาส 4/67 จะสามารถโตเกิน 4% และปี 68 โตเกิน 3% ด้านนโยบายคลัง-การเงิน ทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก แย้มอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในตลาดรถกระบะ รถจักรยานยนต์ ในเร็วๆ นี้ แต่หนี้ครัวเรือนยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงาน BetterTrade2024 “The Next Wealth Oppertunities” มองอนาคต จับโอกาส สร้างความมั่งคั่ง จัดโดยสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย เปิดเผยว่า “ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการผงกหัวขึ้น โดย จีดีพี ปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 2.7-2.9% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมองปี 68 เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 3% ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นรถกระบะ รถจักรยานยนต์อย่างเหมาะสม เพราะหนี้ครัวเรือนระดับสูงยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล ”
นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวอีกว่า “ความจำเป็นในการกระตุ้นก็มี แต่ก็หากดูหนี้เสียของรถกระบะ และมอเตอร์ไซต์ก็เยอะ การกระตุ้นก่อให้เกิดหนี้เสียได้ แต่การไม่กระตุ้นก็อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ฟื้นตัว ขณะที่มาตรการหนี้ครัวเรือนที่จะออกมานั้น แม้จะไม่ได้ทำให้หนี้ลด แต่จะไปช่วยลดภาระดอกเบี้ย แต่ขอให้รอประกาศอย่างเป็นทางการ”
โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 ขยายตัวได้สูงกว่า 4% หรืออยู่ในช่วง 4.0-4.5% และ ส่งผลให้ทั้งปีจีดีพีเติบโต 2.7- 2.9% จากปัจจัยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นผ่านโครงการ 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง
ส่วนมาตรการที่จะออกช่วงปลายปี อยู่ระหว่างการพิจารณาและชั่งน้ำหนัก ความเหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวดี หรือ พีคแล้ว และมีการจับจ่ายใช้สอยสูง ดังนั้น หากรัฐบาลออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2568 ซึ่งเป็นช่วง Low Season หรือเป็นช่วงที่การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวก็จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้
สำหรับในปี 68 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้สูงกว่า 3.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันของไทยมีปัญหา เพราะต่ำกว่าเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
” เสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อไทยขณะนี้ถือว่ามีปัญหา เนื่องจากกรอบอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ 1.0-3.0% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำล่าสุดที่ 0.4% ถือว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายดังนั้นกระทรวงการคลังได้ประสานกับ ธปท. เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิด “ นายเผ่าภูมิเผย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจได้ใช้มาตรการทางการเงินรุนแรง เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ โดยโจทย์ของประเทศไทย นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จะต้องประสานกับโลก และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มิเช่นนั้นจะอันตราย
“ อยากให้ลองนึกภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากทิศทางนโยบายการเงินของโลกผ่อนคลาย แต่ของไทยไม่สอดคล้อง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องกับโลกให้ได้ มิเช่นนั้น ไทยจะได้รับผลกระทบเรื่องของค่าเงิน และส่งผลต่อการส่งออก ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และกดดันภาพของเศรษฐกิจ ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงการคลังและธปท. ต้องทำร่วมกัน คือ ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับโลก”นายเผ่าภูมิชี้ประเด็นที่น่ากังวลใจ