ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ในปีหน้ามีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2565 มีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปี 2565 หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 94.1% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปีนี้ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 92.6% ของจีดีพี ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นประเด็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากประเมินว่ามาจากผผลกระทบจากปัญหาการว่างงานซึ่งในปีหน้าคาดว่าไทยจะมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.7% จากปีนี้อยู่ที่ 1.9%
นอกจากนี้มีผลกระทบจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) ที่กำลังจะครบอายุมาตรการผ่อนปรนการพักชำระหนี้ที่ได้รับจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะกลับมาชำระหนี้ และอาจมีประเด็นที่จะมีประชาชนที่มีแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้จ่ายมากขึ้นหลังเห็นแนวโน้มสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีรายได้เติบโตน้อยกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเร่งให้การช่วยเหลือปัญหาสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในเรื่องของซอฟท์โลน หรือการไม่ใช่หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งภาคธุรกิจในต่างจังหวัดยังไม่ได้รับอานิสงค์เท่าที่ควรจากการเปิดประเทศ
อย่างไรก็ดี มีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยสะท้อนได้จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของประชาชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ ที่มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้
"จากการสำรวจความเชื่อมั่นทั้งประชาชน, ภาคธุรกิจ หอการค้าต่างประเทศ, โมเดิร์นเทรด ต่างเชื่อว่าในไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น แม้ค่าดัชนีจะยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่ก็สะท้อนว่ามันจะไม่แย่ไปกว่านี้ และจะค่อยๆ ดีขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ
ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายตัวได้ที่ระดับ 2-3% จากผลของหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่ทำให้หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การเพิ่มวงเงินผ่านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในภาพรวมคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ 2.5-3 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศก็เริ่มที่จะควบคุมได้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันเริ่มลดลงจากก่อนหน้า และยังไม่มีปัจจัยที่น่ากังวลว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำให้มีการกลับมาระบาดในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก็สามารถทำได้เร็วกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้
"แม้จะมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังคุมโควิดได้ การฉีดวัคซีนตอนนี้ก็ทำได้ครอบคลุม 70% แล้ว...สัญญาณต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราเห็นว่าเศรษฐกิจจะเริ่มโดดเด่นในปีหน้า ไม่มีสมมติฐานของการล็อกดาวน์ในไตรมาส 4 ปีนี้อีกรอบ ไปจนถึงปี 65 จึงทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 น่าจะโตได้ 2-3%" นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวมากกว่า 1.5% ได้ หากรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งหากมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากภาครัฐเข้ามาเพิ่มเติม เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 4, โครงการช้อปดีมีคืน ที่ควรขยายไปถึงตรุษจีนปีหน้า เป็นต้น
สำหรับสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 64-65 ที่สำคัญ มีดังนี้
1. ปริมาณการค้าโลก คาดปี 64 ขยายตัว 9.7% ส่วนปี 65 ขยายตัว 6.7%
2. GDP โลก คาดปี 64 ขยายตัว 5.9% ส่วนปี 65 ขยายตัว 4.9%
3. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย คาดปี 2 แสนคน ส่วนปี 65 คาด 5 ล้านคน
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี คาดปี 64 ที่ 31.85 บาท/ดอลลาร์ ส่วนปี 65 เฉลี่ยที่ 32.65 บาท/ดอลลาร์
5. ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดปี 64 ที่ 67.2 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนปี 65 ที่ 75.8 ดอลลาร์/บาร์เรล
6. รายจ่ายสาธารณะ คาดปี 64 ที่ 4.05 ล้านล้านบาท ส่วนปี 65 ที่ 4.26 ล้านล้านบาท
7. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดปี 64 ที่ 0.50% ส่วนปี 65 ที่ 0.50%
สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 64-65 ประกอบด้วย จำนวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย และจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
การประกาศเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการ ทำให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว หลังการคลายล็อกดาวน์
ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้น
ความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในปี 65 มีแนวโน้มลดลง
ส่วนปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 64-65 ที่ยังต้องจับตา ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อและยาวนาน ทำให้เกิดเป็นแผลเป็นต่อเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางของหลายประเทศหลัก มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากวิกฤติพลังงานและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
ปัญหาขาดแคลนชิป ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ
ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันกำหนด
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ไว้ที่ 4.2% นั้น เชื่อว่าภาคการส่งออกจะยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมถึงการเติบโตของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมา การเปิดสถานบันเทิงต่างๆ มากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่จะมีหมุนเวียนมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในปลายปีหน้าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผู้นำเอเปค ซึ่งจะทำให้มีการเตรียมงานทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่จาก 21 ประเทศสมาชิกที่จะทยอยเข้ามาร่วมประชุมในระดับต่างๆ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 รวมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อก็เชื่อว่าจะไม่เพิ่มขึ้นในระดับที่รุนแรง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในช่วง 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรล ไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศทะลุ 35 บาท/ลิตร เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยตรึงราคาไว้จนกว่าเศรษฐกิจในประเทศจะดีขึ้น ส่วนเงินบาท อยู่ในกรอบไม่เกิน 32-33 บาท/ดอลลาร์
"ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในช่วงจากนี้ คือ 1.ต้องคุมโควิดให้อยู่ มีการฉีดวัคซีนให้ได้มาก เพราะถ้าการติดเชื้อในประเทศลดลง ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว 2.ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่อาจใช้มาตรการจำกัดเฉพาะบางกิจกรรมที่มีปัญหา 3.ผลักดันให้ภาคธุรกิจเปิดกิจกรรมได้ตามปกติ 4.จัดซอฟท์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs 5.กระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และลดปัญหาหนี้ครัวเรือน 6.ทำให้ EEC กลับมาคึกคัก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ" ดร.ธนวรรธน์ กล่าว