มหาวิทยาลัยฮ่องกงเปิดเผยผลวิจัยจากห้องปฏิบัติเบื้องต้นการจากการทดลองกับอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มละ 25 คน โดยกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส พบว่า วัคซีนไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้เพียงพอต่อการต้านไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้
อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองกลุ่มที่ 2 ซึ่งได้รับวัคซีนชนิด mRNA จาก Pfizer และ BioNTech SE ครบ 2 โดส พบว่า มีผู้เข้ารับการทดลองเพียง 5 จาก 25 คนเท่านั้น ที่ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดีเพียงพอที่จะรับมือกับเชื้อโอไมครอนได้
ดังนั้น จากผลวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยจึงแนะนำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ในระหว่างรอการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ที่คาดว่าจะสามารถรับมือกับเชื้อไวรัสโอไมครอนได้ในปีหน้า แต่สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 3 ว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อต้านเชื้อโอไมครอนได้หรือไม่นั้น ทางทีมระบุว่าต้องศึกษาเพิ่มเติม
งานวิจัยดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Clinical Infectious Diseases นำทีมวิจัยโดยศาสตราจารย์ กว๊อก ยัง เหยิน (Kwok-Yung Yuen) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูงในแวดวงการแพทย์
ทางด้านบริษัทซิโนแวคยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ กับผลวิจัยดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้มีการแถลงจากโฆษกของบริษัท ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 3 ว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีเพื่อต้านเชื้อไวรัสโอไมครอน
สำหรับผลการศึกษาล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนของไฟเซอร์ มีผลการศึกษาจากสถานการณ์จริง (Real-world study) จาก ดิสคัฟเวอรี่ เฮลธ์ บริษัทประกันสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ ระบุว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักจากเชื้อโอมิครอนได้ถึง 70%
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมโดย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ประเทศไทยมีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 97.4 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม และ 2 เข็ม จำนวน 22.7 และ 3.56 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม มีประชากรเพียง 6.3% หรือคิดเป็น 4.1 ล้านคน เท่านั้นที่ได้รับบูสเตอร์โดส (วัคซีนเข็มที่ 3) และยังมีประชากรถึง 24.6% ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว นับเป็นความท้าทายของทั้งต่อกระทรวงสาธารณสุข และเศรษฐกิจไทย ว่าจะรับมืออย่างไร หากเกิดการแพร่ระบาดของโอไมครอนขึ้น ซ้ำเติมแผลจากพิษเศรษฐกิจที่ยังไม่ทันได้หายดี