หลังจากที่เป็นข่าวลือมาทุกช่วงสิ้นปี ล่าสุด กระแสข่าวการเก็บภาษีซื้อ-ขายหุ้น ได้กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่ากระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน
หนึ่งในแผนนั้น คือ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction tax ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้น Capital gains tax ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ หลังจากที่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาอย่างยาวนาน โดยการนำกฎหมายภาษีตัวใดออกมาใช้ในประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ว่า มีการฟื้นตัวแล้วหรือยังด้วย
ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายของกรมสรรพากรนั้น ในหมวดที่ 5 เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้กำหนดให้การประกอบกิจการ ด้านการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท. )ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยฐานภาษี (tax point) จะคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1%
สำหรับการชำระภาษีนั้น ให้โบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์ เป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยที่ผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า ที่ผ่านมาไทยมีการยกเว้นภาษี 2 ประเภท คือ
- ภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax)
- ภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gains Tax)
ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้เปิดเผยกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยซึ่งมีสมาชิก ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.), สมาคมบริษัทจัดการกองทุน, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมตราสารหนี้ไทย และ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ มีความเห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วย หากสรรพากรจะจัดเก็บภาษี Transaction Tax จริง เพราะจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อภาพรวมการพัฒนาภาคตลาดทุนและเศรษฐกิจของไทย มากกว่าจะเกิดผลในทางบวก
ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุถึงผลกระทบในเชิงลบว่า เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยยังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนาและการเพิ่มจำนวนฐานผู้ลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในระบบของไทยประมาณ 2 ล้านบัญชี ถือเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำมากเมื่อเทียบจำนวนประชากร 70 ล้านคน จึงถือเป็นอุปสรรคต่อการออมของคนไทย นอกจากนี้ ยังถือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่ม New Economy ที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เข้ามาระดมเงินทุนในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย
ขณะเดียวกัน ภาษีซื้อขายหุ้นยังอาจฉุดเป้าหมายของไทยที่ต้องการขึ้นเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเมียนมา (CLMV) เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วอย่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ไม่มีการเก็บภาษี Transaction Tax จะทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลงเมื่อเปรียบกับตลาดหุ้นสิงคโปร์