นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจสอบการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อคัดกรอง "คนที่ไม่จนจริง" ออกไปจากระบบ เพื่อให้ผู้ถือบัตรเป็นคนที่สมควรได้รับสิทธิช่วยเหลือจริงๆ โดยระบบจะสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล บัญชีเงินฝากในธนาคาร ซึ่งตามเกณฑ์แล้วจะต้องมีไม่เกิน 1 แสนบาท,ที่ดิน, ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ แบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการคัดกรองเพื่อตรวจสอบผู้มีรายได้น้อยที่จนไม่จริง เช่น หากตรวจสอบในขั้นแรกพบว่าเข้าเกณฑ์ แต่เมื่อตรวจพบในภายหลังว่าเป็นการ "ให้ข้อมูลไม่ครบ" ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรือมีการร้องเรียนกรณีจนไม่จริง ก็จะถูกตัดสิทธิทันที
รมช.คลัง กล่าวว่า ทางกระทรวงกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อลงทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ภายในปี 2565 นี้ ซึ่งในรอบใหม่นี้ คาดว่าจะมีคนได้รับสิทธิ์ราว 14-15 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 14.6 ล้านคน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อรายได้คนในระดับรากหญ้า
“ผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนรากหญ้าหรือคนจนอย่างมาก เพราะขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น แต่รายรับกลับไม่เพิ่มขึ้น หรือบางรายที่เคยมีเงินในบัญชีธนาคาร เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการ แต่พอมาปีนี้ อาจมีเงินในบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ได้รับสิทธิ์ก็ได้” นายสันติ กล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเคยระบุว่าจะนำเกณฑ์รายได้ครอบครัวมาใช้ในการลงทะเบียนครั้งนี้ จากปัจจุบันที่ใช้เกณฑ์รายได้ส่วนบุคคลที่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี เป็นเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ ซึ่งเกณฑ์รายได้ครอบครัวจะกำหนด ไม่เกิน 2 แสนบาท จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ทั้งนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกำหนดให้คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยผู้ถือบัตรจะได้รับวงเงินในบัตรรายละ 300 บาท กรณีที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 3 หมื่นบาท และได้รับวงเงิน 200 บาท กรณีมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท รวมถึงวงเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะอีกคนละ 500 บาท เป็นต้น