คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. มีมติให้ “ไก่และเนื้อไก่” เป็นสินค้าควบคุม โดยเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า ทีมงาน Spotlight สรุปที่มาของ สินค้าควบคุม และรวบรวม 51 รายการสินค้าควบคุมที่ถูกประกาศใช้ในปัจจุบัน
19 ม.ค.65 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดเผยภา หลังการประชุมกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 2/2565ว่า ที่ประชุม กกร.ได้มีมติ
"กำหนดให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม และให้ความเห็นชอบ กำหนดมาตรการให้ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน แจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน นอกจากนั้นยังมีมติให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 55 โรง แจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต๊อก รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ การปรับราคาต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน"
สำหรับการกำหนดให้ไก่เป็นสินค้าควบคุมนั้น จะต้องผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในเรื่องของการกำกับราคาไก่ถือว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันมา 2 ครั้งและกำหนดราคาหน้าฟาร์มและราคาจำหน่ายไก่ในราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคซึ่งในภาพรวมถือว่าสามารถตรึงราคาไก่ไว้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ทีมงาน Spotlight ขอขยายความถึงคำว่า “สินค้าควบคุม” โดยใช้ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน
ที่มาของกำหำหนด “สินค้าควบคุม”
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาตรา 24 กำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน กกร. สามารถกำหนดว่าสินค้าและบริการใดเป็นสินค้าควบคุม โดยออกเป็น “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม” มีกำหนดเวลาบังคับใช้ 1 ปีตามวันที่ระบุในประกาศ
หลักเกณฑ์สินค้าควบคุม
คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม ดังนี้
- เป็นสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ
- เป็นสินค้าที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง
- โครงสร้างตลาดมีผู้ผลิตหรือผู้ขายน้อยราย สภาพตลาดไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร
- เป็นสินค้าที่มีเทคนิคการผลิตและการลงทุนสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ค่อนข้างยาก
- เป็นสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวด้านราคาบ่อยครั้งหรือขึ้นผิดปกติ และปริมาณขาดแคลนในบางครั้ง
- เป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาในตลาดโลกมาก
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศใช้ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กำหนดสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมราคาทั้งสิ้น 51 รายการ แบ่งเป็น 46 สินค้า และ 5 บริการ กำหนดเป็น 11 หมวด ประกอบด้วยหมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ /หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง /ปัจจัยทางการเกษตร /ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม /หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ /หมวดวัสดุก่อสร้าง /หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ /หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค /หมวดอาหาร /หมวดอื่นๆ และ11หมวดบริการ
สินค้า 46 รายการ
1.กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว 2.กระดาษพิมพ์และกระดาษเขียน 3.ยางรถยนต์และยางรถจักรยานยนต์
4.รถจักรยานยนต์และรถบรรทุก 5.กากดีดีจีเอส 6.เครื่องสูบน้ำ 7.ปุ๋ย 8.ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช 9.รถเกี่ยวข้าว 10.รถไถนา 11.อาหารสัตว์และหัวอาหารสัตว์ 12. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 13.น้ำมันเชื้อเพลิง 14 .ยารักษาโรค 15.เวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการรักษาโรค 16.ท่อพีวีซี 17 .ปูนซีเมนต์ 18 .สายไฟฟ้า 19.เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น 20.ข้าวเปลือก ข้าวสาร 21.ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ 22.ข้าวโพด 23.ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 24.ผลปาล์มน้ำมัน 25 .มะพร้าวผลแก่ และผลิตภัณฑ์ 26.ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ 27.กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า 28. แชมพู 29.ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก 30.ผลิตภัณฑ์ล้างจาน 31. ผ้าอนามัย 32.ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ 33.สบู่ก้อน สบู่เหลว 34.กระเทียม 35.ไข่ไก่ 36.ทุเรียน 37.นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว 38 .น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ 39.แป้งสาลี 40.มังคุด 41.ลำไย 42.สุกร เนื้อสุกร 43.หอมหัวใหญ่ 44.อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก 45.อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท 46.เครื่องแบบนักเรียน
บริการ 5 รายการ
47.การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า
48.บริการซื้อขาย และหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์
49.บริการทางการเกษตร
50.บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค
51. บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ
ห้ามขึ้นราคาเครื่องใช้ไฟฟ้า
นายจุรินทร์ บอกถึง การปรับราคาเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ได้สั่งการนายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในไปแล้วว่า ห้ามเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นราคา เพราะยังไม่เห็นเหตุผลที่สมควร ซึ่งขณะนี้มีผู้พยายามฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าตามอำเภอใจ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคมาก กระทรวงพาณิชย์จึงขอความร่วมมือ ถ้าพบเห็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้าให้แจ้งสายด่วน 1569 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และพาณิชย์จังหวัดจะใช้เป็นข้อมูลในการลงไปตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป ถ้าพบการกระทำผิดกฎหมาย เช่นกรณีของการขึ้นราคาไข่ไก่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายวัฒนศักย์ ได้เชิญผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง แอลจี มิตซูบิชิ ฟิลลิปส์ และโตชิบา เป็นต้นและสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาประชุมหารือกันและได้ข้อยุติแล้วว่าจะไม่มีการขึ้นราคาเครื่องใช้ไฟฟ้า