หลังจากมติครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอนุมัติหลักการในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยรับข้อเสนอของบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และ เงินอุดหนุนเพิ่ม ล่าสุดในการประชุม ครม.วันนี้มีการลงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีให้ชัดเจน
โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (CBU Completely Built Up – รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาทั้งคัน ) โดย ครม. ยังเห็นควรให้ระบุวันมีผลใช้บังคับของร่างประกาศฯ ให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/64 (ครั้งที่ 4) และครั้งที่ 1/65 (ครั้งที่ 5) เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565
โดยมีการปรับลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (CBU) ประกอบสำเร็จรูปนำเข้าทั้งคัน ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และการนำเข้าทั่วไป ในปี 2565-2566 ดังนี้
- ราคาขายปลีกแนะนำ ไม่เกิน 2 ล้านบาท กรณีใช้สิทธิ FTA อากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้นอากร/ใช้สิทธิ FTA อากรเกิน 40% ให้ลดลงอีก 40% สำหรับกรณีนำเข้าทั่วไป อากร 80% ให้ลดลงเหลือ 40%
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ระบุว่า มติดนี้ จะทำให้รถที่นำเข้าจาก เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ภาษีนำเข้าเหลือ 0% ส่วนรถ ยุโรป ภาษีนำเข้าจะลดลงเหลือ 40%
- ราคาขายปลีกตั้งแต่ 2-7 ล้านบาท กรณีใช้สิทธิ FTA อากรไม่เกิน 20% ให้ยกเว้นอากร/ใช้สิทธิ FTA อากรเกิน 20%ให้ลดลงอีก 20% สำหรับอัตราอากรนำเข้าทั่วไปให้ลดลงเหลือ 60%
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรดังกล่าว ให้ใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ CBU ที่มีหนังสือรับรองการได้รับสิทธิชำระภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหรือรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางจากกรมสรรพสามิต
“การลดภาษีดังกล่าว แม้คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย”
กำหนดอัตราภาษีรถ EV 27 ประเภท
- รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊ก ประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 10% ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 78 กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 50%
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงาน แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2% กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวง มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 8-10%
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท ประหยัดพลังงานแบบมาตรฐานสากล (Eco car) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 14% ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 และตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค. 68 พิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2 และการติดตั้งมาตรฐานความปลอดภัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่า 10-12% ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ อัตราภาษีจะเป็นไปตามอัตราของรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
- รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) แบบผสมที่ใช้ พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 5% ตั้งแต่กฏกระทรวงมีผลบังคับใช้
- รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธ.ค. 68 ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่า 0% และตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2% กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มีการจัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 10% ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธ.ค. 68 และ 1 ม.ค. 69- 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0% กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง ตั้งแต่วันที่ กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.68 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 5%
สำหรับรถยนต์ที่เหลืออีก 21 ประเภท จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 69 - 78 ตามลำดับ ได้แก่
- รถยนต์นั่ง ความจุกระบอกสูบ ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 70 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 71 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 13-38% กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 25-40% สำหรับรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 50%
- รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick-up Passenger Vehicle: PPV) ความจุกระบอกสูบ 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตาม มูลค่า 18 - 50% ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) 16-50% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์นั่งที่ผลิตจากรถยนต์กระบะหรือแชสซีส์และกระจก บังลมหน้า (Chassis With Windshield) ของรถยนต์กระบะ หรือดัดแปลงจากรถยนต์กระบะ ที่ผลิตหรือดัดแปลงโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรม ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2.5 - 40% ที่ดัดแปลงโดยผู้ดัดแปลง จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 25% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์สามล้อชนิดรถสกายแลป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์อื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ 1-5 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 50% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 70 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 71 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา ตามมูลค่า 13-38%
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 25-40% สำหรับรถที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 50% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ใช้เป็นรถพยาบาล และรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่ายในท้องตลาดเป็นการทั่วไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle) แบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 70 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 71 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 6-28%
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป มีการจัดเก็บ ภาษีในอัตราตามมูลค่า 15-30% กรณีที่มีความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 40% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงานแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่สามารถเสียบปลั๊กประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 5-10% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 15-20% สำหรับความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 30% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภทประหยัดพลังงาน แบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 1% กรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 5% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์นั่งสามล้อ และรถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ ของรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์สามล้อ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2-4% รถยนต์นั่งที่ผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องยนต์ของ รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 4 ตั้งแต่ 1 ม.ค 69 เป็นต้นไป
- รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 3-5% ตั้งแต่ 1 ม.ค 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่ไม่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (No Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20)ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 2-4% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 3-7% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวม น้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กก. ที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลัง ที่นั่งคนขับ (Space Cab) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่า 5-8% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 8-13% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ที่ใช้เชื้อเพลิง ประเภทไบโอดีเซล (B20) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 6-12% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะแบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษี ในอัตราตามมูลค่า 0-2% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์กระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0-1% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 78
- รถยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ไม่เคยมีการจำหน่าย ในท้องตลาด จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69
- รถยนต์ประเภทอื่น ๆ นอกจากข้อ 15 - ข้อ 26 ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 15-50% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากความจุกระบอกสูบ อัตราการปล่อย CO2
สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ารถจักรยานยนต์รวม 4 ประเภท ได้แก่
- แบบพลังงานไฟฟ้า โดยจะพิจารณาจากแรงดันไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0-10% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- แบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง หรือแบบผสมที่ใช้พลังงาน เชื้อเพลิงและไฟฟ้า ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 4-25%
- รถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69 เป็นต้นไป
- รถจักรยานยนต์อื่น ๆ นอกจากข้อ 1 - ข้อ 3 แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลาคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 69 - 31 ธ.ค. 72 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ให้จัดเก็บภาษีในอัตราตามมูลค่า 25-30%
นายธนกร กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังกำชับให้มาตรการภาษีให้เกิดประโยชน์ในการลงทุน และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป้าหมาย คือ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กระตุ้นผู้ประกอบการปรับปรุงและพัฒนาสู่เทคโนโลยีทันสมัย การลดปล่อยก๊าซ CO2 และยังเป็นการสนับสนุนพลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อนตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย