ข่าวเศรษฐกิจ

ไทยเตรียมพบกับ เงินเฟ้อนิวไฮรอบ 11 ปี พิษจากน้ำมันแพง ลากราคาสินค้าเพิ่มตามไปด้วย

9 มี.ค. 65
ไทยเตรียมพบกับ เงินเฟ้อนิวไฮรอบ 11 ปี พิษจากน้ำมันแพง ลากราคาสินค้าเพิ่มตามไปด้วย

"ไทยพาณิชย์" ประเมิน เงินเฟ้อไทยปี 2565 ทะยานสูงสุดในรอบ 11 ปีอยู่ที่ 3.5-3.6% สูงกว่าแบงก์ชาติคาดไว้ที่ 3% โดนผลกระทบราคาน้ำมันโลกพุ่งกังวลวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 
 
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน "เสวนาหัวข้อ สินค้าราคาแพง…รัฐแทรกแซงตลาด คือทางออก ?" ที่จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า ประเมินว่าเงินเฟ้อของไทยทั้งปี 2565 จะขยายตัว 3.5-3.6% เป็นอัตราสูงกว่าที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดการณ์ไว้ 3% ถือว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้นี้ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
 
 
 
ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัญหารัสเซียกับยูเครนมีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ย 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัว 5.28% ที่ผ่านมา
 
 
ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงได้ในครึ่งปีหลังเฉลี่ย 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะไม่ต่ำไปกว่านี้แน่นอนเป็นผลมาจากสหรัฐ เพิ่มการผลิตน้ำมันเชลออยล์เพื่อลดแรงกดดันราคาน้ำมันที่เกิดจากสงคราม และจากผลราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
 
 
ขณะที่ปัญหาราคาเนื้อสุกรของไทยปรับขึ้นกว่าจะคลี่คลายและเพิ่มผลผลิตหมูต้องใช้เวลาเป็น 1 ปี ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นจากรัสเซียกับยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตข้าวสาลี 1 ใน 5 ของโลกที่ผลิตออกสู่ตลาดโลก
 
 
“มาตรการตรึงราคาไม่ได้ช่วยแต่อาจจะเป็นการกดดันไม่ให้เอกชนผลิตสินค้าออกมา และผู้ประกอบการก็อาจจะต้องปรับตัวจัดการต้นทุน นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเหลือ เพราะหากจะทำรายได้ด้านราคาก็อาจจะทำไม่ได้ในภาวะเช่นนี้ ส่วนการอุดหนุนดีเซลที่รัฐบาลทำเป็นการช่วยเหลือทุกส่วน คนขับรถหรูที่ใช้ดีเซลก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
 
 
รัฐควรจะแก้ไขและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแบบเจาะจง เช่น กลุ่มรถบรรทุกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน หรือการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย คนละครึ่งทั่วประเทศอาจจะเจาะจงผู้ที่เดือดร้อน การทำร้านธงฟ้า”
 
 
อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันปัญหาต่าง ๆ มองว่าในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะความต้องการสินค้าบริการยังไม่สูงขึ้น
 
 
 
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาค่าครองชีพที่ปรับขึ้นแล้วการจะปรับลดลงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย
 
 
สำหรับการที่ภาครัฐนั้นมีมาตรการออกมาขอความร่วมมือในการตรึงราคา ยังไม่ใช่มาตรการที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ทั้งยังเข้าถึงน้อยด้วยแต่สิ่งสำคัญการเข้าแทรกแซงราคาต้องดูเป็นจุด อีกทั้งภาครัฐต้องช่วยเพิ่มรายได้ประชาชนในช่วงนี้
 
 

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือน ก.พ. 2565 ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.8 เป็น 43.3 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 เป็นต้นมา

 

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

นอกจากนี้ การที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง


ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 37.2 40.1 และ 52.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนม.ค. ที่อยู่ในระดับ 38.7 41.4 และ 54.4 ตามลำดับ

“ดัชนีความเชื่อมั่นบริโภคในเดือน ก.พ.ปรับตัวลงลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนชะลอการใช้จ่าย ซึ่งผู้บริโภคเห็นว่า เศรษฐกิจยังไม่ดี ซึ่งคาดว่าในอนาคตดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจตกลงเป็นประวัติการณ์ใกล้เคียงกับระดับที่เกิดขึ้นในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว”

 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต

 

โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5-4.5% ในปีนี้

 

ส่วนดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่สำรวจจากภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ ในเดือนก.พ. 2565 อยู่ที่ 36.7 จากความกังวลโอมิครอนที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาสินค้าโดยเฉพาะวัตถุดิบมีราคาสูง ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้น ทั้งนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครน มาตรการแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกมิติ

 
 
 
 
 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT