10 มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพ จากปัญหาราคาพลังงาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.65 อย่างน้อย 10 มาตรการในการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพจากปัญหาราคาพลังงานให้กับประชาชน ประกอบด้วย
1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินเป็น 100 บาท/เดือน จกาเดิม 45 บาท
2.ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาทสำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน
3.ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาท/กก.
5.ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กก.
6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม
7.ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง
8.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
9.ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
10.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุดก่อนจะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นเข้ามาใช้ประเทศด้วย โดยเฉพาะปุ๋ย และอาหารสัตว์ต่างๆ ซึ่งไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
“เป็นสิ่งที่ต้องมองในระยะยาว ว่าจะทำอย่างไรดี ทำอย่างไรเราถึงจะผลิตปุ๋ยเองในประเทศได้บ้าง ทำอย่างไรถึงจะมีแม่ปุ๋ยของเรา ซึ่งมีอยู่ แต่ใช้ไม่ได้ ขุดขึ้นมาไม่ได้ เพราะประชาชนยังไม่เห็นชอบในเรื่องนี้ ทำให้เราขาดความเข้มแข็งในเรื่องของปุ๋ย จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด” นายกรัฐมนตรี กล่าว พร้อมระบุว่า วันนี้หลายประเทศเริ่มกักตุนอาหาร กักตุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต จึงส่งผลกระทบทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลพยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด