รู้จักกับไวรัสตัวใหม่ "เลย์วี" ใน "จีน" ที่มีต้นตอจากหนูผี และมีผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 35 ราย ในภาคตะวันออกของจีน
โควิดยังไม่ทันจะหมดไป โลกก็ต้องเจอกับเชื้อไวรัสใหม่ๆ อีกแล้ว คราวนี้พบต้นตอใน "จีน" กับไวรัสตัวใหม่ที่ชื่อว่า "เลย์วี" หรืออ่านแบบจีนว่า "หลางหยา" ทีมข่าว Spotlight พาไปสรุปทุกประเด็นที่ควรรู้ ดังนี้
ไวรัสเลย์วี คืออะไร?
เลย์วี เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “Langya henipavirus” หรือ “เลย์วี” (LayV) โดยสามารถติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้
ไวรัสเลย์วี เจอที่ไหน อย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ต้นตอการพบไวรัสตัวนี้คาดว่ามาจาก "หนูผี" (Shrew) ที่ชื่อและหน้าเหมือนหนู แต่จริงๆ ไม่ใช่หนู เพราะถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับตัวตุ่น หนูผีมีลักษณะเหมือนหนูขนาดเล็ก แต่หน้าแหลม พบได้ทั่วโลก และคาดว่าเป็นต้นตอการแพร่เชื้อสู่คนที่พบในจีนครั้งนี้
ไวรัสเลย์วี ผู้ป่วยมีอาการอย่างไร ร้ายแรงแค่ไหน?
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยคล้ายเป็นไข้ คือ มีไข้ ไอ เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะ และอาเจียน แต่ไม่ใช่อาการที่รุนแรง และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คน
ไวรัสเลย์วี ติดเชื้อกันแล้วกี่คน กระจายออกนอกจีนหรือยัง?
ปัจจุบัน มีการพบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 35 คน ในมณฑลซานตง และเหอหนาน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของจีน แต่ยังไม่พบรายงานการระบาดนอกประเทศจีน
ไวรัสเลย์วี พบเป็นครั้งแรกของโลก หรือไม่?
- เลย์วี หรือ หลางหยา ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ที่เพิ่งมีการพบในจีน โดยถือเป็นไวรัสในสกุลเดียวกันกับเชื้อไวรัส "นิปาห์" (Nipah henipavirus) และ "เฮนดรา" (Hendra henipavirus) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ต้องรักษาตามอาการ
- อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบฟอร์มกันแล้ว "เบื้องต้น" ไวรัสที่พบในจีนยังเบากว่าตัวนิปาห์และเฮนดร้า โดยไวรัสนิปาห์ถูกพบครั้งแรกในปี 1999 ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ไปพบการระบาดใหญ่ที่ประเทศอินเดียเมื่อปี 2018 ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ โดยเป็นการติดเชื้อมาจาก "ค้างคาว" ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 17 คน เชื้อนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงราว 40-75%