ข่าวเศรษฐกิจ

สิ้นยุคค่าไฟถูก กกพ.บอก 'ไม่มีอีกแล้วต่ำกว่า 4 บาท'

13 ก.ย. 65
สิ้นยุคค่าไฟถูก กกพ.บอก 'ไม่มีอีกแล้วต่ำกว่า 4 บาท'

หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 มีมติให้ปรับค่าขึ้นไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ในรอบ 2 ปี สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 โดยให้เก็บเพิ่มที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย

ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จากนั้นค่าเอฟทีก็ทยอยขึ้นมาต่อเนื่อง จนในวันที่ 16 มี.ค. 2565 กกพ. มีมติให้ปรับขึ้นค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 โดยให้เรียกเก็บเพิ่มที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นไปแตะระดับนี้

 

เปิดสถิติการขึ้นค่า FT แต่ต้นปี 2565 ถึงปัจจุบันมี ดังต่อไปนี้

  1. เดือน ม.ค.-เม.ย. ขึ้นค่า FT อยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย
  2. เดือน พ.ค.-ส.ค. ขึ้นค่า FT อยู่ที่ 24.77 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย
  3. เดือน ก.ย.-ธ.ค. ขึ้นค่า FT อยู่ที่ 68.66 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ล่าสุด นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symphosium 2022 จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หัวข้อ 'วิกฤตพลังงานและแผนของประเทศ' ว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายในระดับต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยคงจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว

เนื่องจากเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมพึ่งพาก๊าซฯ อ่าวไทยราคาต่ำแต่ปัจจุบันปริมาณก๊าซฯ จำกัด จนไทยต้องนำเข้าเชื้อเพลิงมากขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นอกจากนี้การนำเข้าแบบสัญญาระยะยาวก็ทำได้ยาก ระยะหลังผู้ขายนิยมตลาดจรเพราะราคาสูงกว่า ปัจจุบันแอลเอ็นจี คิดเป็นต้นทุนผลิตไฟ 10 บาทต่อหน่วย ก๊าซอ่าวไทย 2-3 บาทต่อหน่วย และน้ำมัน 6 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เดือนก.ย. -ธ.ค. 2565 ปรับขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟไทยทำให้ค่าไฟเฉลี่ยต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หากสถานการณ์ราคาพลังงานยังผันผวน แนวโน้มค่าไฟคงต้องปรับตัวสูงขึ้นอีก แต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทย

โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณต้องเร่งผลิตเพิ่มมาสู่ระดับปกติ ส่วนการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนคงทำได้ยาก เพราะปัจจุบันรับภาระเกือบ 1 แสนล้านบาท

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT