กุ้งเคยเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพราะประเทศไทยเคยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในปี 2001 ที่ไทยเคยขึ้นไปเป็นผู้ส่งออก “อันดับ 1 ของโลก” ที่กุ้งไทยเคยสร้างมูลค่าส่งออกได้กว่า 1 แสนล้านบาท
แต่ในปัจจุบัน มูลค่าส่งออกกุ้งของไทยกลับตกลงมาอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2021 เหลือส่วนแบ่งตลาดโลกเพียงประมาณ 3% กลายเป็นอันดับ 6 ในโลกตามหลังหลายประเทศในเอเชียอย่าง “อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย” ที่ครองอันดับ 1 3 และ 4 อยู่ตามลำดับ
และลดลงเรื่อยมาจนล่าสุดมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตกุ้งของไทยอาจลดลงไปเหลือ 270,000 ตัน ซึ่งลดลงมากกว่าครึ่งจากสถิติสูงสุด 600,000 ตัน เมื่อปี 2011 หลังเกษตรกรประสบปัญหาโรคระบาดกุ้งเช่น โรคตายด่วน อาการขี้ขาว และตัวแดงดวงขาว มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี
ส่งผลให้ผลผลิตลดลงจนขาดตลาดจนไทยในฐานะ “ผู้ส่งออก” ต้องกลายเป็น “ผู้นำเข้า” รัฐบาลต้องตัดสินใจนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์ ในปีนี้ เป็นปริมาณประมาณ 10,000 ตัน เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ
อะไรทำให้อดีตเบอร์ 1 ผู้ส่งออกกุ้งตกต่ำจนต้องหันมานำเข้ากุ้งจากคู่แข่งที่เคยตามหลัง ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้ได้อ่านกัน
โรคระบาดทำผลผลิตลดฮวบ
การเลี้ยงกุ้งในประเทศเริ่มกลายเป็นธุรกิจจริงจังตั้งแต่ปี 1972 หลังจากกรมประมงเพาะพันธุ์กุ้งแชบ๊วยในโรงเพาะฟักได้สำเร็จ จนทำให้เกษตรกรที่ทำนากุ้งแบบธรรมชาติเพิ่มผลผลิตได้จาก 40-50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 200 กิโลกรัมต่อไร่
ก่อนนากุ้งธรรมชาติจะพัฒนาไปเป็นระบบการเลี้ยงเต็มรูปแบบในปี 1982 ประกอบกับได้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยจึงเพื่องฟูขึ้นมากในปี 1985-1988 โดยมีการขยายตัวอย่างมากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่ยังเป็นแหล่งผลิตกุ้งหลักของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
โดยประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลก เพราะในประเทศไทยได้กุ้งมาจากทั้งการทำประมงน้ำเค็ม ประมงน้ำจืด และการเพาะพันธุ์กุ้ง โดยพันธ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงขายเชิงพาณิชย์ในไทยคือ กุ้งขาวเวนนาไม และ กุ้งกุลาดำ ที่เคยทำรายได้ให้ประเทศไทยปีละเป็นแสนล้าน
ในปี 2011 ไทยส่งออกกุ้งสด กุ้งแช่เย็น และกุ้งแปรรูปได้ถึง 393,234 ตัน สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 1.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยก็ประสบปัญหาโรคระบาดเช่น โรคไวรัสหัวเหลือง และโรคดวงขาว (ตัวแดงดวงขาว) ที่ทำให้ผลผลิตลดลงมาตลอด จนกระทั่งมีการระบาดของ ‘โรคตายด่วน’ หรือโรค EMS ในปี 2012 ที่ทำให้ผลผลิตกุ้งของไทยหายไปมากถึง 90% จนปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังทำให้ผลผลิตที่มีมีคุณภาพต่ำลง เช่น โตช้า และตัวเล็ก ทำให้มูลค่าของกุ้งไทยในตลาดมีมูลค่าลดลง
อุตสาหกรรมกุ้งไทยขาดการวางแผนที่มีประสิทธิภาพและเงินทุนพัฒนาจากส่วนกลาง
อย่างไรก็ตาม โรคระบาดก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยตกต่ำลง เพราะสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปริมาณการผลิตและส่งออกกุ้งของไทยถดถอยลงอีกอย่างก็คือ การขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงเงินทุนและการสนับสนุนในการพยุงราคากุ้งให้มีเสถียรภาพของรัฐบาล
ในอดีต อุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งในประเทศไม่ได้ถูกควบคุมดูแลอย่างเต็มที่จากรัฐบาล ทำให้การเพาะพันธุ์และจับกุ้งของไทยไม่มีมาตรฐาน ไม่มีคนดูแล ทำให้มีปัญหาที่ส่งผลต่อผลผลิตและศักยภาพในการแข่งขันมากมาย เช่น ปัญหาสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงที่ทำให้สหภาพยุโรปแบนการนำเข้าสินค้าทางทะเลของไทยไปช่วงหนึ่ง และทำให้สหรัฐอเมริกาลดไทยไปอยู่ Tier 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี 2015 เพราะพบการค้ามนุษย์และใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมงไทย ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์อาหารทะเลไทยเสียหายอย่างมาก
และในขณะที่ผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทยประสบปัญหาหนักทั้งจากโรคระบาดและเรื่องภาพลักษณ์ อุตสาหกรรมกุ้งในประเทศอื่นก็พัฒนาไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น “เวียดนาม” ที่มีการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้ง และ “อินเดีย” ที่ได้เร่งปรับปรุงพันธุ์กุ้งให้มีความทนทานต่อโรคมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การขาดหน่วยงานกลางมาดูแลยังมีผลเสียอีกคือ ทำให้ขาดระบบประกันราคากุ้งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ส่วนมากเป็นรายเล็กมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูง เพราะไม่มีกำลังต่อรองกับห้องเย็นหรือบริษัทแปรรูปที่มักจะกดราคาซื้อให้ต่ำที่สุดเพื่อลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรกุ้งจำนวนมากขาดแรงจูงใจในการทำฟาร์มกุ้งต่อ ถอดใจเลิกกิจการไป ทำให้ผลผลิตกุ้งของไทยตกต่ำเข้าไปอีก
และถึงแม้ปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีหน่วยงานกลางในการดูแลอุตสาหกรรมกุ้งแล้วคือ คณะกรรมการกุ้ง (Shrimp Board) ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนสิงหาคมปีนี้ แต่ปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมกุ้งก็เหมือนจะยังไม่ได้รับการแก้ไขเมื่อรัฐบาลเลือกใช้วิธีนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์เพื่อแก้ปัญหากุ้งขาดตลาดในไทย ทำให้ราคากุ้งไทยตกต่ำเพราะขาดผู้ซื้อ เพราะมีกุ้งราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด
ซึ่งการเลือกนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์นี้ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขามองว่านี่เป็นการ ‘ด้อยค่ากุ้งไทย’ เพราะเหมือนไปลดระดับกุ้งไทยให้เทียบเท่า ‘กุ้งเอกวาดอร์’ ที่ในปัจจุบันมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพต่ำกว่ากุ้งไทย ทั้งที่กุ้งไทยมีชื่อเสียงมากในแง่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ Local Content ที่เกือบทั้ง 100% ใช้วัตถุดิบในประเทศแทบทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่เอามาชูแบรนด์กุ้งไทยให้มีความพรีเมี่ยม และคิดราคาสูงกว่ากุ้งจากประเทศอื่นได้
อีกทั้งพวกเขายังมองว่านี่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งไทยเป็นสำคัญ เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตต่ำลงเรื้อรั้งคือ ‘ปัญหาโรคระบาด’ ที่ปัจจุบันหน่วยงานรัฐยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือแก้ไขอย่างมีรูปธรรม อีกทั้งยังไม่มีการให้เงินทุนเพื่อทำวิจัยแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่
และในขณะที่ผลผลิตกุ้งไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ก็เป็นที่น่าจับตาว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อพลิกอุตสาหกรรมผลิตกุ้งไทยที่เคยเฟื่องฟูให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหากไม่มีการทำงานวางแผนเพื่อช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างมีระบบจากส่วนกลางแล้ว ก็ยากที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะอยู่รอด และกลับมาเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าส่งออกหลักของประเทศได้
ที่มา: Nikkei Asia, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, OEC