บริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศด้านการจัดประชุม GainingEdge เผยรายงานวิจัยประจำปี “Leveraging Intellectual Capital” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า กรุงเทพมหานครมีบุคลากรเข้าเป็นกรรมการบริหารสมาคมระหว่างประเทศ 194 สมาคม แต่สามารถดึงงานประชุมเข้าประเทศได้มากถึง 123 งาน คิดเป็นอัตราการใช้ประโยชน์ (Harnessing Ratio) 63.4% ทำให้กรุงเทพเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียแปซิฟิก ตามด้วย เซี่ยงไฮ้ 51.7% สิงคโปร์ 50.8% ไทเป 45.9% และกัวลาลัมเปอร์ 44.3%
GainingEdge จัดอันดับเมืองจุดหมายปลายทางไมซ์ทั่วโลก ด้านการใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่เป็นต้นทุนทางปัญญาเพื่อดึงงานประชุมนานาชาติมาจัดในเมืองได้สูงสุด โดยพิจารณาจากจำนวนผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของสมาคมวิชาชีพระหว่างประเทศ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนงานประชุมนานาชาติของสมาคมฯ ที่จัดขึ้นระหว่างปี 2561 จนถึงปี 2564 ในเมืองของผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และคำนวณค่าออกมาเป็นสัดส่วนร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เรียกว่า ‘Harnessing Ratio’
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังอยู่ในอันดับ 6 ของโลก รองจากกรุงปราก 95% ดับลิน 81.9% ลิสบอน 81.8% มอนทรีออล 77.2% และเบอร์ลิน 64.7%
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า จากรายงานของ GainingEdge ได้แนะนำให้เมืองต่าง ๆ ใช้กลยุทธ์การประมูลสิทธิหรือดึงงานโดยเชิญชวนผู้นำองค์ความรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่มีชื่อเสียงให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดึงงาน ซึ่งสอดรับกับแนวทางการดึงงานของทีเส็บที่ริเริ่มโครงการ Thailand Convention Ambassador Programme หรือผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย ที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่โน้มน้าวให้เกิดการสนับสนุนและนำเสนอประเทศไทย สร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม และสนับสนุนเพื่อช่วยผลักดันให้สมาคมของประเทศไทยในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ร่วมประมูลสิทธิงานประชุมนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทย
ทั้งนี้ TCEB เตรียมขยายโครงการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดประชุมนานาชาติให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ของประเทศ อาทิ อาหาร และการเกษตร ภายใต้โมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy Model) และไทยแลนด์ 4.0
ศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมเป็นเจ้าภาพ APEC 2022
สำหรับการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ก็คือ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ประกาศความพร้อมในทุกด้านในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับภูมิภาคในครั้งนี้ อันจะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค ตามแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.”
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เผยว่า หลังจากการเปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงานเอเปค 2022 และต้อนรับผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในครั้งนี้ ในฐานะที่เราเป็นเสมือนห้องรับแขกของประเทศไทยและเป็นตัวแทนของคนไทยเราได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านในการต้อนรับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดงานเอเปค 2022 ในครั้งนี้ จะนำความสำเร็จมาสู่ประเทศชาติและสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยอย่างแน่นอน
ด้วยศักยภาพของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในการเป็น “ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม” เรามีความพร้อมทุกๆ ด้านสำหรับรองรับการประชุมเอเปค 2022 ทั้งในด้านพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เพียบพร้อมครบครัน สามารถรองรับการจัดงานระดับโลก ด้วยพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร และเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการจัดงานอย่างยั่งยืน ด้านการบริการ ที่ครบวงจรด้วยมาตรฐานสากล
ทั้งความปลอดภัย สุขอนามัยและโภชนาการ ด้านบุคลากร ที่มีความเป็นมืออาชีพมากด้วยประสบการณ์ในการจัดงาน ระดับโลก และให้บริการด้วยไมตรีจิตอย่างไทย พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมไทยอันเป็นเอกลักษณ์สู่นานาชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมประชุม
โดยการจัดงานเอเปค 2022 ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยบนเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้นยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยก่อให้เกิดรายได้ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอันเกิดจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนภาคบริการต่างๆ