การท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังคึกคักจากจำนวนยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยในปี 2567 ที่ผ่านมาสูงถึง 35.5 ล้านคน และในปี 2568 นี้หลายฝ่ายมองว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยอาจแตะ 40 ล้านเช่นเดียวกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาด
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทยในรอบปีทีผ่านมาโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น การฟรีวีซ่า ให้กับหลายประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอินเดียเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 31% สู่ระดับประมาณ 2.1 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเกือบ 24% สู่ระดับกว่า 742,000 คน ซึ่งช่วยชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
กรุงเทพฯศูนย์กลางเมืองลักซ์ชู
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเป็นศูนย์กลางหรือฮับของบรรดาสินค้าแบรนด์เนมระดับโลกที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย โจนาธาน ซิโบนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ปรึกษา ลักซ์ชูรินไซต์ (Luxurynsight) ในปารีส ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางสินค้าหรูหราที่สำคัญ โดยพบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีบรรดาร้านแบรนด์เนมสุดหรูระดับโลก 26 แห่งที่เข้ามาเปิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบว่าเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดในสัดส่วน 11 แห่งเลยทีเดียว
ลักซ์ชูรินไซต์ ระบุว่า ในปี 2024 ร้านค้าหรูในประเทศไทยและภูมิภาคมีอัตราการเติบโตรวมถึง 124% มีทั้งการเปิดตัวใหม่และการเปิดร้านแบบป๊อปอัพ เมื่อเทียบกับจีนที่โต 43% และญี่ปุ่นโต 30% ส่วนอินเดียครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยอัตราการเติบโต 262%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ตัวอย่างร้านหรู แบรนด์ระดับโลก ที่มาเปิดในไทยเช่น แบรนด์คริสเตียน ดิออร์ ที่ได้สร้าง Dior Gold House ป๊อปอัพสโตร์สุดหรูสีทองใจกลางกรุงเทพฯ โดยจำลองภายนอกอาคารมาจากร้านสาขาหลักของแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ บนถนน Avenue Montaigne ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส
LV The Place Bangkok ของ Louis Vuitton SE ซึ่งเป็น Experiential Store แบบ 360 องศา มีทั้งนิทรรศการ ร้านค้า คาเฟ่ และร้านอาหารแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สยามพิวรรธน์ ผู้ดำเนินการศูนย์การค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ เปิดเผยว่ายอดขายผลิตภัณฑ์หรูหรา เช่น น้ำหอมและกระเป๋า ในพื้นที่ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าหรูหรามีให้เห็นชัดเจนมากขึ้นกว่าที่เคยในกรุงเทพฯ เมืองแห่งร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม เช่นการมาของ One Bangkok ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของวงการความหรูหราที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง โดยวัน แบงค็อก มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโดยมีโรงแรมหรู 5 แห่ง รวมถึง Ritz-Carlton แห่งแรกของกรุงเทพฯ เฟสที่สองของโครงการนี้จะประกอบด้วยอาเขตที่มีแบรนด์ระดับไฮเอนด์และร้านอาหารสุดหรูอีกด้วย
หรือแม้แต่ร้านร้านอาหารชื่อดังอย่าง Sorn ซึ่งให้บริการอาหารใต้ของไทย กลายเป็นร้านอาหารแห่งแรกของประเทศที่ได้รับรางวัลมิชลิน 3 ดาว โดยมิชลินไกด์ ส่วนCapella Bangkok ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับการโหวตให้เป็นโรงแรมอันดับ 1 ของโลกในเดือนกันยายนอีกด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย กลายเป็นหมายของเหล่าบรรดาสินค้าลักซ์ชัวรี่ระดับโลก มาจาก จีน ซึ่งคือเป้าหมายสำคัญของเหล่าบรรดาแบรนด์ลักซ์ชู กำลังเผชิญกับปัญหสเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดขายสินค้าแบรนด์หรูในจีนถดถอยลง ผู้บริโภครัดเข็มขัดท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้จำหน่ายสินค้าแบรนด์หรูระดับโลกหลายรายก็ได้เริ่มหันมาจับตามองประเทศไทย
บลูมเบิร์กรายงาน ว่า ภาพของสุภาพสตรีถือกระเป๋าแอร์เมส (Hermes) ออกมารับประทานอาหารกลางวัน หรือภาพของรถซูเปอร์คาร์ที่จอดอยู่หน้าห้างหรูในไทยได้กลายเป็นภาพที่พบเห็นทั่วไปในกรุงเทพฯ ด้วยปัจจัยหนุนจากกลุ่มคนรวยในไทย และจากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ
คริสทีน ลี หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียแปซิฟิกของบริษัทไนท์แฟรงค์ (Knight Frank LLP) เปิดเผยข้อมูลว่า ภายในปี 2570 คาดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง หรือผู้ที่มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จำนวน 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 890,000 คนในปี 2565 และล่าสุดในเดือนนี้ คณะรัฐมนตรีไทยได้แก้ไขกฎระเบียบด้านวีซ่า ซึ่งทำให้ใบอนุญาตพำนักระยะยาวมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่มีทักษะ นักลงทุน และชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง
บลูมเบิร์ก วิเคราะห์ว่า กรุงเทพฯ มีทำเลเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยอยู่ห่างจากเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงบิน และเมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว คาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 40 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 35.5 ล้านคนในปี 2567
ข้อมูลของการเติบโตของร้านค้าหรูในประเทศไทย อาจสวนทางกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกิน 80 %ต่อจีดีพี ซึ่งสะท้อนความแตกต่างของกำลังซื้อระหว่างกลุ่มระดับบน(ไฮเอนด์) กับมนุษย์ทำงานทั่วไป ซึ่งยังเผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงทางการเงินของตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ที่มา :บลูมเบิร์ก