สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (APEC Business Advisory Council 2022) เตรียมนำเสนอแนวทางเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของ 21 ประเทศเอเปค โดยจะนำเสนอรายงานประจำปี (Annual Dialogue) และข้อเสนอแนะต่างๆ (Recommendations) เพื่อนำเข้าพิจารณาระหว่างการหารือประจำปีกับผู้นำเอเปคในวันที่ 18 พฤศจิกายน นี้
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 (ABAC) กล่าวว่า คำแนะนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในปีนี้ รวบรวมขึ้นโดยมีฉากหลังของความขัดแย้งและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง และความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการระบาดของโควิด-19 และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 เป็นไปได้อย่างยากลำบาก
เพราะฉะนั้น เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสในระยะยาวเพื่อการเติบโตของประเทศสมาชิก สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนในการส่งมอบข้อเสนอแนะต่อผู้นำเอเปคในการเจรจาประจำปี ได้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะขึ้น โดยในปีนี้ มีประเด็นสำคัญ 5 ประการด้วยกัน คือ
การเร่งสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่ง Lam Yi Young ตัวแทนจากสิงคโปร์ และประธานกลุ่มทำงานด้าน Regional Economics Integration ของ อธิบายว่ารวมไปถึง
- การเร่งเสริมสร้างเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก APEC (FTAAP)
- การร่วมมือกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งแบบทวิภาคี และพหุภาคี
- การดำเนินการเปิดพรมแดนเพื่อให้การเคลื่อนย้ายบุคคลและสินค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีความครอบคลุม ปลอดภัย โดย Janet De Silva ตัวแทนจากแคนาดา และประธานกลุ่มทำงานด้าน Digital Working อธิบายว่ามีความสำคัญ เพราะในปัจจุบันหลังการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจในทุกๆ อุตสาหกรรม และในทุกๆ ระดับ ไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่ต้องหันมาพึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
เพื่อตอบสนองกับวิธีการทำธุรกิจในยุคใหม่ การเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มเอเปคให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยจึงเป็นควรเป็นเรื่องที่ผู้นำควรให้สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งประเด็นที่ ABAC จะเน้นในรายงานนี้คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้เท่าเทียมกันในทุกประเทศในระดับภูมิภาค รวมไปถึงการพัฒนา 5G และ Cloud เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนและเขตเศรษฐกิจมีความปลอดภัย เป็นไปได้อย่างราบรื่น และทำให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปคพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
การช่วยเหลือ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ให้ฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่ง Dato Rohana Mahmood ตัวแทนจากมาเลเซีย และประธานกลุ่มทำงาน MSME และ Inclusiveness กล่าวว่ามีความสำคัญมาก เพราะธุรกิจมากกว่า 97% ในประเทศเอเปคทั้งหมดเป็นธุรกิจในกลุ่ม MSMEs ที่สร้าง GDP และการจ้างงานมากกว่า 50% แต่ถึงแม้จะเป็นส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจระดับนี้กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ได้เหมือนธุรกิจใหญ่
เพราะฉะนั้น ในการประชุม APEC ปีนี้ กลุ่ม ABAC จึงเตรียมเสนอแนวทางการช่วยเหลือ MSMEs ให้ภาครัฐนำไปปฏิบัติตาม ดังนี้
- ส่งเสริมให้ MSMEs นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น (Digital Transformation)
- ส่งเสริมให้ MSMEs ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งทุน (Financing) และช่วยพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมให้ทุกธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างองค์กรที่มีความหลากหลายทั้งทางเพศ ส่งเสริมให้ผู้หญิง เยาวชน และคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารธุรกิจ
การนำนโยบายทางการเงินและเศรษฐกิจในระดับมหภาคมาใช้เพื่อเร่งการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะในปัจจุบันหลายประเทศกำลังเจอความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และกำลังเผชิญปัญหาด้านการเงินในหลายด้าน
โดยในปีนี้ Hiroshi Nakaso ตัวแทนจากญี่ปุ่น และประธานกลุ่มทำงาน Finance และ Economics อธิบายว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจโลกเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน และทางกลุ่มทำงานได้ร่วมกันคิดข้อเสนอแนะขึ้นมาหลายประการให้ภาครัฐพิจารณา อาทิ การรัดเข็มขัดนโยบายทางการเงินเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ การปฏิรูปโครงสร้างการค้าทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทานเพื่อส่งเสริมการเติบโต และการสร้างนโยบายทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน เช่นการจัดตั้งระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับภูมิภาค
การส่งเสริมเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งแฝงอยู่ในข้อเสนอแนะทุกประเด็น โดยเกรียงไกร เธียรนุกุล กล่าวว่าในปัจจุบันธุรกิจในทุกภาคส่วนต้องคิดถึงผลกระทบที่ธุรกิจของตัวเองจะมีต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจโดยมุ่งทำกำไรโดยไม่สนใจเรื่องความยั่งยืนได้อีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม นอกจาก 5 ประเด็นสำคัญนี้แล้ว นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่าในตอนนี้ยังมีอีก 3 ปัญหาที่รัฐบาลต้องมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนทุกปัญหา คือ 1. ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในด้านราคา และทำให้ของแพง 2. ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และ 3. ปัญหาโลกรวน และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ที่กำลังส่งผลประทบอย่างมหาศาลต่อประชาชนทั่วโลกในรูปแบบภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ
ในส่วนของประเทศไทย นายเกรียงไกรมองว่าประเทศไทยมีปัญหามากในด้านการสนับสนุน MSMEs เพราะธุรกิจมากกว่า 90% ของประเทศเป็นธุรกิจในกลุ่ม MSMEs และได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงโควิด และถึงแม้ทางรัฐบาลจะได้ออกนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเช่น การหาแหล่งเงินกู้ให้แล้ว MSMEs ก็ยังมีปัญหา และถึงแม้จะมีการเปิดประเทศจนการท่องเทีย่วเริ่มฟื้นแล้ว แต่ธุรกิจ MSMEs กลับยังไม่ได้อานิสงค์จากการเปิดประเทศมากเท่าที่ควร
เพราะฉะนั้น นายเกรียงไกรกล่าวว่าสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องเร่งทำในตอนนี้คือการออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจในกลุ่มนี้ เพราะ MSMEs เป็นธุรกิจที่คล้ายกับ ‘ถั่วงอก’ คือโตเร็ว แต่รากสั้น ที่ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างทันท่วงทีก็จะตาย