ข่าวเศรษฐกิจ

เอเชียเสี่ยงจมน้ำ 17 เมืองดินทรุดเร็วที่สุดในโลก กรุงเทพฯ ติดอันดับ 9

27 พ.ย. 65
เอเชียเสี่ยงจมน้ำ 17 เมืองดินทรุดเร็วที่สุดในโลก กรุงเทพฯ ติดอันดับ 9

ในปีนี้ สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องประสบร่วมกันก็คือภัยน้ำท่วม ที่ทำความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งในด้านชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำฝนตกหนักกว่าปกติ หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน 

istock-458131889

แต่นอกจากสภาพอากาศแปรปรวนและระดับน้ำทะเลแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ ก็คือ "ปัญหาดินทรุดตัว" ที่งานวิจัยจาก University of Rhode Island บ่งชี้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญทีเดียวที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในเอเชีย 

โดยจากงานสำรวจการทรุดของหน้าดินในเมืองทั่วโลกจำนวน 99 เมืองผ่านข้อมูลจากดาวเทียมตั้งแต่ปี 2015-2020 พบว่า เอเชียเป็นทวีปที่เจอปัญหาแผ่นดินทรุดมากที่สุดในโลก โดยในอันดับรายชื่อเมืองที่มีการทรุดของหน้าดินมากที่สุดในโลก 20 อันดับนั้น เป็นเมืองในเอเชียไปแล้ว 17 อันดับ นำโดยอันดับที่ 1 คือ เมืองเทียนจิน ประเทศจีน เมืองเซอมารัง ประเทศอินโดนีเซีย และเมืองจาการ์ตา ในขณะที่กรุงเทพ ประเทศไทยตามมาในอันดับที่ 9 ดังรายอันดับแบบเต็มด้านล่าง

  1. เทียนจิน ประเทศจีน: 53 มิลลิเมตร/ปี
  2. เซอมารัง ประเทศอินโดนีเซีย: 39 มิลลิเมตร/ปี
  3. จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย: 34 มิลลิเมตร/ปี
  4. เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน: 29 มิลลิเมตร/ปี
  5. นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม: 28 มิลลิเมตร/ปี
  6. ฮานอย ประเทศเวียดนาม: 24 มิลลิเมตร/ปี
  7. จิตตะกอง ประเทศกัมพูชา: 23 มิลลิเมตร/ปี
  8. ธากา ประเทศบังคลาเทศ: 18 มิลลิเมตร/ปี
  9. กรุงเทพฯ ประเทศไทย: 17 มิลลิเมตร/ปี
  10. เชนไน ประเทศอินเดีย: 15 มิลลิเมตร/ปี
  11. มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์: 15 มิลลิเมตร/ปี
  12. การาจี ประเทศปากีสถาน: 14 มิลลิเมตร/ปี
  13. สุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย: 11 มิลลิเมตร/ปี
  14. ประเทศสิงคโปร์: 11 มิลลิเมตร/ปี
  15. ไทเป เกาะไต้หวัน: 8 มิลลิเมตร/ปี
  16. มุมไบ ประเทศอินเดีย: 7 มิลลิเมตร/ปี
  17. กัวลา ลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย: 6 มิลลิเมตรต่อปี

Meng "Matt" Wei รองศาสตราจารย์บัณฑิตวิทยาลัยด้านสมุทรศาสตร์ ของ University of Rhode Island อธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ดินในเมืองใหญ่เหล่านี้ทรุดตัวคือ การสูบน้ำบาดาลออกมาใช้ในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เพราะมีผลให้แรงดันน้ำใต้ดินลดลง ส่งผลต่อการทรุดตัวของชั้นดินโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัญหาดินทรุดจะเป็นปัญหาที่เจอได้ทั่วโลก เขากล่าวว่า เมืองใหญ่ในเอเชียจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดเนื่องจากเมืองเหล่านี้มีที่ตั้งอยู่ในที่ราบต่ำใกล้บริเวณชายฝั่ง หรือริมแม่น้ำ ทำให้ดินมีความอ่อนนุ่ม และทำให้การที่ดินทรุดตัวแม้เพียงนิดเดียวก็อาจสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับทั้งผู้คนและธุรกิจในพื้นที่ 

โดยในปัจจุบันจากข้อมูลของธนาคารโลก ผู้คนกว่า 1.8 พันล้านคนบนโลกกำลังอาศัยอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่ และ 70% หรือ 1.24 พันล้านคนในนั้นเป็นคนที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก อัตราความเสียหายจากอุทกภัยทั่วโลกยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยขึ้นมาถึง 1.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2010-2019 หรือขึ้นมาเกือบ 50% จากช่วงปี 2000-2009 ชี้ให้เห็นว่าผู้คนบนโลกกำลังเจอภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำในอัตราที่ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้คนในประเทศยากจนในเอเชียที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

 

ที่มา: Nikkei Asia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT