ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.นัดแรกของปี 2566 เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
"คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้"
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะฟื้นตัวในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปีหน้า
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักรวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อ
ค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) แต่ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตราที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดัน
ด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
ด้านผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ให้สัมภาษณ์กับ “ Spotlight ” คาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปีนี้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จำนวน 2 ครั้ง และทำให้ภายในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยกนง.อยู่ที่ 1.75% หากมติไม่เป็นเอกฉันท์ ตลาดอาจตีความว่ามีโอกาสที่จะหยุดที่ 1.50%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จากนี้ไปมีแนวโน้มสูงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 1 ครั้ง อาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ไปจนตลอดทั้งปี 2566 อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยที่ออกมา รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด และเฟดจำเป็นต้องยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง คงส่งผลให้ กนง. เผชิญแรงกดดันมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเร่งสูงขึ้นที่ระดับ 5.89% ช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนทั้งปีเชื่อว่า เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยูโรโซน แม้ว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีนคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน แต่คงไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวเท่ากับปี 2565 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อโลกที่ลดลงช้ากว่าที่ประเมินจากปัจจัยจีนเปิดประเทศอาจจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยให้ลดลงช้าตามไปด้วย
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลัง โดยการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศจีนที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ จะช่วยหนุนการส่งออกไทย แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่