Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
BOJ ชี้ความเสี่ยงเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เปิดทางขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
โดย : มนันพัทธ์ ธนนันท์พร

BOJ ชี้ความเสี่ยงเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เปิดทางขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

18 พ.ย. 67
14:55 น.
|
59
แชร์

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ญี่ปุ่นเองก็อยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของนโยบายการเงิน โดยทุกประเทศทั่วโลกต่างจับจ้องมาที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ในภาวะที่ทั่วโลกอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง และญี่ปุ่นอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และด้วยบทบาทในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อ 

ล่าสุด ถ้อยแถลงของนายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ)  ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเมื่อเศรษฐกิจในประเทศเอื้ออำนวย แต่ยังคงเน้นถึงความระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพามาสำรวจความเคลื่อนไหว ล่าสุดของ BOJ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น ตั้งแต่ความก้าวหน้าของ "วงจรเชิงบวก" ที่เกิดจากการปรับเพิ่มค่าจ้าง จนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมมองแนวทางของ BOJ จะส่งผลอย่างไรต่อทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกในระยะยาว?

BOJ ชี้ความเสี่ยงเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เปิดทางขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มสูงขึ่น จากการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ไม่ได้ให้สัญญาณชัดเจนว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนหน้า โดยนายอูเอดะ กล่าวย้ำถึงความพร้อมของ BOJ ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ หากเศรษฐกิจเป็นไปตามการคาดการณ์ พร้อมส่งสัญญาณว่าเงื่อนไขภายในประเทศสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนถึงความจำเป็นในการจับตาปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เช่น ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดการเงินที่ยังคงผันผวน “ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ ราคา และสถานการณ์ทางการเงิน” นายอูเอดะกล่าวในสุนทรพจน์

ดังนั้น การไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจาก นายอูเอดะ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.4% สู่ระดับ 154.77 เยน ขณะที่นักค้าเงินบางส่วนคาดการณ์ว่า BOJ จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ด้านตลาดมองว่า มีโอกาสราว 55% ที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จุดสู่ 0.5% ในการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งตัวเลขนี้แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากก่อนคำแถลงของนายอูเอดะ

ผลสำรวจของรอยเตอร์เมื่อวันที่ 3-11 ตุลาคม พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาดว่า BOJ จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ แต่เกือบ 90% มองว่า อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคม โดย BOJ ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมีนาคม และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นขึ้นเป็น 0.25% ในเดือนกรกฎาคม โดยพิจารณาว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นใกล้จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% อย่างยั่งยืนแล้ว

นายอูเอดะ ระบุว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมองว่าความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาว่า BOJ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อใด

[BOJ เปิดทางเลือกนโยบายกว้าง พร้อมจับตาเงินเฟ้อจากค่าจ้าง]

คำแถลงล่าสุดของนายคาซูโอะ อูเอดะ ระบุว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เขาพูดถึงนโยบายการเงิน หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อถูกถามถึงการกลับมาของทรัมป์ในทำเนียบขาว อูเอดะ กล่าวว่า คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเห็นความชัดเจนในนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์

นายโทรุ ซูเอฮิโระ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Daiwa Securities กล่าวว่า "หากมองว่า BOJ ต้องวางรากฐานให้พร้อมก่อนขึ้นดอกเบี้ย โอกาสที่เราจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมอาจลดลง" แต่เขากล่าวเสริมว่า "ในอีกมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่า BOJ ยังคงเปิดกว้างสำหรับทุกทางเลือก เพราะท่าทีของอูเอดะดูเอนเอียงไปในทางที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า"

โดยการปรับขึ้นค่าจ้างและกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทต่างๆ กำลังช่วยหนุนการบริโภคและการลงทุน พร้อมแสดงความมั่นใจถึงสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมักเป็นเดือนที่พวกเขาทบทวนราคาอยู่แล้ว โดยสะท้อนให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศและค่าจ้างที่สูงขึ้น มากกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ 

“วงจรเชิงบวกที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การใช้จ่ายที่สูงขึ้นกำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในฝั่งบริษัทและครัวเรือน” เขากล่าวกับกลุ่มผู้นำธุรกิจในเมืองนาโกย่า พร้อมเสริมว่า "เราคาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงปรับตัวดีขึ้น และบริษัทต่างๆ ยังคงขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน"

สำหรับเป้าหมายสำคัญของนโยบายการเงิน BOJ จะอยู่ที่การประเมินว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าจะยังคงเร่งตัวต่อไปหรือไม่ อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก

“ดูเหมือนว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลงจอดอย่างนุ่มนวลกำลังเพิ่มขึ้น” อูเอดะกล่าว พร้อมเสริมว่าความเชื่อมั่นของตลาดกำลังดีขึ้นเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มลดลง

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า BOJ จำเป็นต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอกอยู่เสมอ เนื่องจากความผันผวนในตลาดอาจกลับมาอีกครั้งจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่

[BOJ วางนโยบายการเงิน รับมือความท้าทายยุคใหม่]

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น การที่ผู้ว่าการธนาคาร นายคาซูโอะ อูเอดะ ย้ำถึงความพร้อมของ BOJ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย สะท้อนถึงความพยายามอย่างจริงจังในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม

แม้เงื่อนไขในประเทศจะเริ่มแสดงสัญญาณสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว แต่อูเอดะก็ไม่ลืมที่จะเน้นถึงความสำคัญของปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เช่น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และตลาดการเงินที่ยังคงเปราะบาง การระบุถึง "วงจรเชิงบวก" ที่รายได้และการใช้จ่ายของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้น ถือเป็นจุดเด่นที่แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เงินเฟ้อถูกผลักดันโดยค่าจ้างอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในความสามารถของ BOJ ในการจัดการกับปัญหา่เงินเฟ้อและการปรับดอกเบี้ยจะยังคงถูกจับตามองจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อ BOJ ต้องพิจารณาถึงความเชื่อมโยงระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนที่มีผลต่อการนำเข้าและการส่งออก

ท้ายที่สุด ทิศทางนโยบายของ BOJ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังส่งแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม การตัดสินใจในแต่ละครั้งจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ถ้วน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว ทั้งนี้ BOJ ยังคงต้องแสดงบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำหนดนโยบายเพื่อพาประเทศญี่ปุ่นเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน.

แชร์
BOJ ชี้ความเสี่ยงเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เปิดทางขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต