ข่าวเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้เจอปัญหาเงินเฟ้อหนัก นำเข้า ‘กิมจิ’ จากจีนสูงเป็นประวัติการณ์

25 ม.ค. 66
เกาหลีใต้เจอปัญหาเงินเฟ้อหนัก นำเข้า ‘กิมจิ’ จากจีนสูงเป็นประวัติการณ์

ยอดนำเข้ากิมจิของเกาหลีใต้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 หลังภาวะเงินเฟ้อและสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำ ดันราคากะหล่ำปลีและวัตถุดิบอื่นๆ พุ่งสูง จนผู้ผลิตภายในประเทศต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุน

istock-173021127

จากข้อมูลของศุลกากรเกาหลีใต้ ในปี 2022 เกาหลีใต้นำเข้ากิมจิจากต่างประเทศเป็นมูลค่ารวมถึง 169.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 20% จากปีก่อนหน้า เป็นน้ำหนักรวม 263,434 ตัน เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 2021 

จากการรายงานของสำนักข่าว Yonhap กิมจิที่เกาหลีใต้นำเข้ามาป้อนผู้บริโภคภายในประเทศนั้น ส่วนมากเป็นกิมจิที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งมีราคานำเข้าอยู่ที่เพียง 643 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ราว 21,000 บาท) ในขณะที่ปัจจุบันราคาส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้พุ่งไปสูงแล้วถึง 3,425 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ราว 112,000 บาท) สะท้อนแนวโน้มราคากิมจิภายในประเทศที่ขึ้นสูงนำกิมจิในประเทศอื่นๆ ไปถึง 5 เท่า 

โดยในปีที่ผ่านมา บริษัท Daesang FNF ซึ่งเป็นผู้ผลิตกิมจิที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในเกาหลีใต้ ได้ปรับราคาสินค้าของตัวเองขึ้นเฉลี่ยถึง 10% ให้เหมาะสมกับราคากะหล่ำปลี พริก และเครื่องเทศอื่นๆ ที่เป็นวัตถุดิบในกิมจิที่ปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ

ราคาส่งออกที่สูงขึ้นนี้ทำให้ยอดส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้ลดลงไปถึง 11.9% ในปี 2022 ไปอยู่ที่เพียง 140.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.6 พันล้านบาท ทำให้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้ากิมจิถึง 28.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

 

เกาหลีใต้ขาดดุลการค้ากิมจิกับจีนมาตั้งแต่ปี 2006 ยกเว้นปี 2009 และ 2021

จากข้อมูลของ IMF ในอดีต เกาหลีใต้เคยผลิตกิมจิได้เกินความต้องการคนในประเทศ และมีฐานะเป็นผู้ส่งออกกิมจิรายใหญ่ของโลกมาตลอด โดยมีลูกค้าหลักเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 เกาหลีใต้ก็เริ่มนำเข้ากิมจิจากจีนมาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกิมจิจากจีนมีราคาถูก ทำให้ธุรกิจอาหารใหญ่บางเจ้าของเกาหลีใต้เลือกลดต้นทุนโดยการใช้กิมจิจากจีน จนในปี 2006 เกาหลีใต้ก็ขาดดุลการค้ากิมจิเป็นครั้งแรก และพลิกกลับมาเกินดุลเป็นผู้ส่งออกได้เพียง 2 ครั้งในปี 2009 เพราะค่าเงินจีนแข็งจนกระทบส่งออก และปี 2021 ที่ผ่านมา จากกระแสความนิยมอาหารเกาหลีที่เพิ่มขึ้นจากสื่อ Soft Power ต่างๆ 

โดยสาเหตุเดียวที่ทำให้คนเกาหลีเลือกนำเข้ากิมจิจากจีนก็คือ 'ราคา' เพราะถึงแม้จะมีคนในประเทศต่อต้านการนำเข้ากิมจิอยู่บ้างเพราะมองว่ากิมจิที่มาจากจีนไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ดีต่อสุขภาพเท่ากิมจิที่ผลิตโดยคนเกาหลี ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่คนต้องรัดเข็มขัด การซื้อกิมจิที่นำเข้าจากจีนมาบริโภคก็ยังดีกว่าไม่มีกิมจิมารับประทานเลย เพราะกิมจิคือเครื่องเคียงมาตรฐานที่เรียกได้ว่าต้องอยู่คู่โต๊ะอาหารของคนเกาหลีตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นซุปกิมจิ ซุปเต้าหู้ คิมบับ และข้าวผัด

istock-686167210

จากการรายงานของ Asia News Network กิมจิจากจีนที่เกาหลีนำเข้าส่วนมากมาจากเมือง 'ชิงเต่า' เมืองชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศจีน ที่ส่งออกกิมจิมากกว่า 260,000 ตันให้แก่เกาหลีใต้ในปี 2022 หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการบริโภคกิมจิของคนเกาหลี เพราะเมืองนี้มีสภาพอากาศที่เหมาะกับการปลูกกะหล่ำปลี ทำให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก และราคาถูก

โดยบริษัทจีนที่เป็นผู้นำในการส่งออกกิมจิในขณะนี้คือ Qingdao Sankou Foods บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกและผลิตผักดองทุกชนิด ที่เป็นผู้จำหน่ายกิมจิให้หลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และแคนาดา โดยมูลค่าการส่งออกถึง 30% ของบริษัท เป็นการส่งออกไปยังเกาหลีใต้



ที่มา: The Korea Herald, Asia News Network, IMF

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT