กระทรวงการคลัง คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ 3.8% เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 65 โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวและจะเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุล 3,100 ล้านดอลลาร์ จับตาแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.3-4.3% (ค่ากลาง 3.8%) ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชียที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น คาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 27.5 ล้านคน พุ่งขึ้น 147% จากปีก่อน ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวทำได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ตามรายได้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยบทบาทของนโยบายการคลังจะยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.6% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น
ด้านการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ราว 0.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% เนื่องจากราคาพลังงานโลกลดลง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP
ปัจจัยต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ด้านปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัวได้มากกว่าคาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนหลังเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง
ด้านปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1.ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป 2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
สมมติฐานสำคัญที่นำมาพิจารณาในประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 ดังนี้
โฆษกกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 65 ว่า ขยายตัวได้ 3.0% ซึ่งการผ่อนปรนมาตรการการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ประกอบกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศ ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 11.2 ล้านคน สร้างรายได้ 3.6 แสนล้านบาท ด้านมูลค่าการส่งออก ขยายตัว 5.3% การนำเข้า ขยายตัว 15.0% ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 19.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.1%
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนม.ค.66 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเกือบทุกภูมิภาค กล่าวคือ ภาคตะวันออก, ภาคใต้, ภาคกลาง, กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ภาคตะวันออก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 83.1 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 51 เดือน แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 82.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 66 เดือน แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและกลุ่มก่อสร้าง
ภาคตะวันตก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 80.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 74.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกทั้งยังมีการจัดงานประเพณีประจำท้องถิ่นในบางพื้นที่ร่วมด้วย และในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการภาคบริการมีแนวโน้มจะขยายธุรกิจของตนเพิ่มขึ้น
ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 72.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และในภาคการจ้างงาน เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่จะจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น
ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 71.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการภาคบริการในพื้นที่มีแนวโน้มจะขยายธุรกิจของตน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
กทม. และปริมณฑล
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 59.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และในภาคบริการจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น