การวิจัยของ Fitch Solutions ระบุว่า ในปี 2023 โลกจะขาดแคลนข้าว หรือมีผลผลิตข้าวต่ำกว่าปริมาณที่ต้องการถึง 8.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากที่สุดในรอบ 20 ปี เกิดจากสภาวะสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำให้หลายพื้นที่ได้ผลผลิตข้าวต่ำกว่าที่ควร
ปัจจุบัน ข้าวเป็นอาหารหลักของคนมากกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา และประชากรเอเชียและตะวันตกที่กินข้าวในสหภาพยุโรป โดยประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้บริโภคข้าวถึง 90% ของโลกในแต่ละปี
ข้าวเป็นพืชที่ปลูกในหลายๆ พื้นที่ของโลก จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) 10 ประเทศที่ผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลกในปี 2019 คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เวียดนาม ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน และบราซิล และในปี 2020 ทั้งโลกผลิตข้าวได้รวมถึง 756.7 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ Fitch Solutions ในปี 2023 ผู้บริโภคข้าวทั้งโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนข้าวถึง 8.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2004 ที่โลกขาดแคลนข้าวถึง 18.6 ตัน
จากคำอธิบายของ Fitch Solutions ปัจจัยหลักที่ทำให้ ผลผลิตข้าวลดลงก็คือ 1. ภาวะสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงในหลายพื้นที่ปลูกข้าวทั่วโลก และ 2. สงครามรัสเซียยูเครนที่กระทบการผลิตธัญพืชต่างๆ และทำให้คนหันมากินข้าวเป็นอาหารแทนธัญพืช
ในปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตข้าวหลายประเทศทั่วโลกต้องผจญกับภัยพิบัติจากปรากฏการณ์ลานีญา โดยเฉพาะจีนและปากีสถานที่ต้องเจอสภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก และเนื่องจากข้าวเป็นพืชที่ไวต่อสภาพอากาศและความชื้น และต้องการการดูแลมาก หากสภาพอากาศเลวร้ายไม่เป็นใจ ต้นข้าวก็จะไม่สามารถให้ผลผลิตอย่างที่ต้องการได้
จากการรายงานของ CNBC ในครึ่งปีแรกของ 2022 ผู้ผลิตข้าวในจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุฤดูร้อนที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม และสร้างความเสียหายให้กับนาข้าวใหญ่ในมณฑลกวางสีและกวางตุ้ง
ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตข้าวที่ติด 10 อันดับแรกในปี 2019 และเป็นผู้ส่งออกข้าว 7.6% ของโลกอย่าง ‘ปากีสถาน’ ก็เจอผลกระทบจากน้ำท่วมหนักเช่นกัน โดยจากข้อมูลของ USDA ผลผลิตข้าวของปากีสถานในปี 2022 ลดลงถึง 31% จากปีก่อนหน้าจากความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมากกว่าระดับที่ทาง USDA ได้คาดการณ์ไว้ในรอบแรก
นอกจากนี้ เมื่อเกิดสงครามขึ้นในรัสเซียและยูเครนซึ่งเป็นประเทศผลิตธัญพืชอันดับต้นๆ ของโลก ผู้บริโภคธัญพืชก็หันมาหาข้าวรับประทานกันมากขึ้นเพื่อเป็นอาหารทดแทนธัญพืชที่ราคาสูงขึ้นจากสงคราม และดันให้ราคาข้าวสูงมากขึ้นตามไปด้วยจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานลดลง
จากข้อมูลของ Fitch Solutions ผลผลิตที่ลดลงนี้ทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นมากในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก และทำให้หลายๆ ประเทศตัดสินใจลดการส่งออกข้าวไปนอกประเทศ ทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นมากไปอีกสำหรับประเทศนำเข้าอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศในทวีปแอฟริกา
ในรายงานของ Fitch ระบุว่า ราคาข้าวเฉลี่ยทั่วโลกได้ขึ้นไปสูงถึง 17.3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 596 บาท ต่อ 1 Hundredweight (cwt) หรือราว 45 กิโลกรัม ในปี 2023 และน่าจะคงระดับสูงอยู่ทั้งปี ก่อนจะลดลงไปอยู่ที่ 14.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อ cwt ในปี 2014
ถึงแม้สถานการณ์ในปีนี้จะดูเลวร้าย Fitch คาดว่าสถานการณ์นี้จะเริ่มดีขึ้นในปี 2024 โดยผลผลิตน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5% จากปีนี้หลังผู้ผลิตเริ่มกลับมาตั้งตัวได้ และจะเริ่มผลิตได้มากขึ้นจนมีข้าวส่วนเกินในปี 2025
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสภาพอากาศในปีต่อๆ ไปจะเป็นใจสำหรับการปลูกข้าวหรือไม่ เพราะถึงแม้กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคาดว่าในปี 2023 ระดับน้ำฝนในอินเดียน่าจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ ผลพยากรณ์อากาศก็ชี้ว่าอินเดียอาจต้องเผชิญกับภาวะร้อนและแล้งหนักในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตข้าวเช่นกัน
นอกจากอินเดียแล้ว สภาพอากาศในจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของโลกก็ดูไม่สู้ดีเช่นกัน เพราะในพื้นที่มณฑลกวางสีและกวางตุ้งซึ่งเป็นพื้นที่กสิกรรมของจีนก็ต้องเผชิญปัญหาแล้งมายาวนาน 2 ทศวรรษติตต่อกันแล้ว
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศส่งผลอย่างมากต่อความปลอดภัยด้านอาหารของคนทั้งโลก และถ้าหากปรากฎการณ์สภาพอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นอีก มูลค่าอาหารทั่วโลกก็จะเฟ้อ และคนหลายพันล้านคนบนโลกก็อาจจะเข้าสู่ภาวะอดอยาก เพราะไม่มีอาหารเพียงพอต่อความต้องการบริโภคได้
ที่มา: CNBC, World Economic Forum