หลังทางการจีนเปิดประเทศทำให้จุดหมายปลายทางอย่างประเทศไทย มีเที่ยวบินจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อจาก 1,063 เที่ยวบิน ในเดือนมกราคม เป็น 5,330 เที่ยวบินในเดือนพฤษภาคมนี้ และคาดการณ์ว่าเที่ยวบินจากจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องบริษัทวิทยุการบินเตรียมแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ
ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง เดือนเมษายน 2566 มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ ไทย – จีนรวม 12,805 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ถึง 98 % ซึ่งการที่จีนมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ทำให้สายการบินจากประเทศจีนมีความต้องการเปิดทำการบินและเพิ่มความถี่ในการบินมากขึ้น
จำนวนเที่ยวบินจากจีนเข้าไทยในปี 2566
มกราคม 1,063 เที่ยวบิน
กุมภาพันธ์ 1,749 เที่ยวบิน
มีนาคม 3,082 เที่ยวบิน
เมษายน 4,240 เที่ยวบิน
คาดการณ์พฤษภาคม 5,330 เที่ยวบิน
คาดการณ์มิถุนายน 6,090 เที่ยวบิน
คาดการณ์กรกฎาคม 7,150 เที่ยวบิน
คาดการณ์สิงหาคม 7,460 เที่ยวบิน
คาดการณ์กันยายน 7,340 เที่ยวบิน
ทำให้การคาดการณ์ 9 เดือนแรกของปี 66 มีเที่ยวบินจากจีนมาไทย 43,504 เที่ยวบิน และหากนับจากตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 มีเที่ยวบินจีนรวม 46,175 เที่ยวบิน แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณเที่ยวบินจีนที่คาดการณ์ไว้นี้ยังคงน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 อยู่ 66 % ดังนั้นแม้ว่า สถานการณ์โดยรวมของจำนวนเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับสู่ภาวะก่อนโควิด 19
ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยุการบินฯ ได้เตรียมพร้อมรองรับเที่ยวบินจีนที่จะเพิ่มขึ้น โดยได้เข้าร่วมในคณะกรรมการจัดสรรตารางการบิน หรือ Slot Allocation ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาจัดสรรตารางการบินให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับ เตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติในการให้บริการจราจรทางอากาศ และแนวทางการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมด้านการบริหารอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสำหรับรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ วิทยุการบินฯ มีความร่วมมืออันดีกับหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของจีน Air Traffic Management Bureau, Civil Aviation Administration of China โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจราจรทางอากาศระหว่างทั้งสองประเทศมีสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เที่ยวบินจีนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ