ข่าวเศรษฐกิจ

UNESCO ชู 5จังหวัดไทยเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร-ศิลปะพื้นบ้าน-ออกแบบ

4 มิ.ย. 66
UNESCO ชู 5จังหวัดไทยเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร-ศิลปะพื้นบ้าน-ออกแบบ

‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดไทย “เพชรบุรี-สุโขทัย-กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-เชียงใหม่” เป็นเมืองสร้างสรรค์ ใน 3 ด้านจาก 7 ด้านคือ อาหาร, หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และ ออกแบบ สะท้อนศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละภูมิภาคของไทยในเวทีโลก 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 5 จังหวัด ของไทย ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย และเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN)

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ต่อยอดมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ผ่านนโยบายระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติที่เชื่อมโยงกับเมืองต่างๆ กว่า 300 เมืองทั่วโลก เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เมืองสมาชิกจะต้องตรวจสอบความก้าวหน้าและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ของโครงการทุก 4 ปี โดยแบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่ 

  1. หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts & Folk Art)
  2. การออกแบบ (Design)
  3. ภาพยนตร์ (Film)
  4. อาหาร (Gastronomy)
  5. วรรณกรรม (Literature)
  6. สื่อศิลปะ (Media Arts)
  7. ดนตรี (Music)

โดยปัจจุบันยูเนสโกขึ้นทะเบียน 5 จังหวัดของไทยเป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ดังนี้

– จังหวัดภูเก็ต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร' เมื่อปี 2558 โดยภูเก็ตมีวัฒนธรรมการทำอาหารแบบดั้งเดิมและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ส่งผ่านระหว่างรุ่น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่าปีละ 3.6 พันล้านดอลลาร์

– จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน' เมื่อปี 2560 โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ยังคงสืบสานและสนับสนุนอุตสาหกรรมงานฝีมือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมายาวนาน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก การปักไหม และเครื่องเขิน โดยปัจจุบันเชียงใหม่เป็นแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือของผู้ประกอบการถึง 159 แห่ง

– กรุงเทพมหานคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ' เมื่อปี 2562 โดยกรุงเทพฯ มีความหลากหลายของประชากร มีการผสมผสานระหว่างสุนทรียภาพแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ ทำให้เกิดวิวัฒนาการการออกแบบของเมือง ผ่านช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชุมชนการผลิตเชิงสร้างสรรค์มีอยู่ทั่วเมือง

– จังหวัดสุโขทัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน' เมื่อปี 2562 โดยสุโขทัยมีมรดกทางศิลปะและหัตถกรรมดั้งเดิมอันยาวนาน และเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือซึ่งมีกว่า 1,300 คนที่ทำงานในชุมชน เช่น ผ้าทอ เครื่องประดับทองและเงิน เซรามิก และเครื่องสังคโลก โดยงานฝีมือดังกล่าวสะท้อนถึงภูมิปัญญาโบราณ และการยกระดับเศรษฐกิจของสุโขทัย

– จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร' เมื่อปี 2564 โดยเพชรบุรีมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศ ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบคุณภาพสูง มีสูตรอาหารดั้งเดิมของชุมชน และการผสมผสานประเพณีเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้อาหารท้องถิ่นได้รับการดัดแปลงให้แพร่หลายมากขึ้นในระดับชาติและระดับโลก




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT