ทิศทางภาคการส่งออกของไทย รวมถึงในเอเชียดูท่าจะยังเงียบเหงา แม้ปี 2023 ผ่านมาครึ่งปีแล้วก็ตาม เห็นได้จากตัวเลข ‘มูลค่าการส่งออก’ ของหลายประเทศที่มีทั้งติดลบ และบวกแบบอ่อนๆ อาทิ
ตัวเลขส่งอออกข้างต้นสะท้อนให้เห็นภาพของภาคการส่งออกทั่วเอเชียที่ยังไม่ค่อยสดใส นำโดยเกาหลีใต้ที่มูลค่าการส่งออกหดตัวลงถึง 15.20% เทียบกับปีก่อนหน้า หลายประเทศได้แก่เวียดนาม จีน รวมถึงไทย ก็ประสบปัญหามูลค่าการส่งออกหดตัวเช่นกัน ด้านญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แม้ไม่ติดลบ แต่ก็ขยายตัวน้อยกว่า 1% จากผลพวงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ด้านเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวแรงหลังเปิดประเทศ กลับไม่ดีเท่าที่ควร จากปัญหาภายใน อาทิ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงการส่งออกของจีนเองก็แย่กว่าคาด จากการที่ประเทศคู่ค้าฝั่งยุโรป และสหรัฐมีความต้องการที่หดตัวลง
เมื่อหันมามองผลงานภาคการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 66 พบว่าหดตัวน้อยกว่าคาดการณ์ (-4.6% เทียบกับคาดการณ์ของ Reuters ที่ -8.0%) เนื่องมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 1.5% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้านสินค้าเกษตรหดตัวถึง 16.3% YoY
อย่างไรก็ดี นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อภาคการส่งออกของปี 2566 มองว่าจะสามารถจบปีด้วยตัวเลขเป็นบวกได้
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 1 - 2% นำโดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ที่สูงขึ้น
ด้าน “สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย” (สรท.) มองว่า มูลค่าการส่งออกของปีนี้จะเปลี่ยนแปลงในช่วง -0.5 ถึง 1% แม้จะหดตัวลงมาแล้ว 2 ไตรมาส แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจะสามารถเติบโตแบบเร่งได้ มองว่าปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทยคือค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศคู่ค้า และคู่แข่งสำคัญ ส่วนปัจจัยลบที่ยังท้าทายภาคการส่งออกนั้นได้แก่ ความไม่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก, อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกซึ่งยังอยู่ในระดับสูง, ต้นทุนการผลิตที่ยังสูง และความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (El Nino) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร
ด้านคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองตัวเลขส่งออกของไทยปีนี้ว่า อาจติดลบได้ถึง 2% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก แนะนำภาครัฐเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในประเทศที่ยังขยายตัวได้ เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทดแทนประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่อ่อนแอลง
ที่มา : Trading Economics, Reuters, กกร, สรท, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย