Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เป็นหนี้เรื้อรัง จบหนี้ได้ใน  5 ปี สำรวจมาตรการ ธปท.แก้หนี้ครัวเรือน 
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เป็นหนี้เรื้อรัง จบหนี้ได้ใน  5 ปี สำรวจมาตรการ ธปท.แก้หนี้ครัวเรือน 

22 ก.ค. 66
23:08 น.
|
971
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

ธปท.ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยจะยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้ ครอบคลุมคนที่เป็น หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้ หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และหนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ 

 

หนี้ครัวเรือนไทยที่แบงก์ชาติปรับวิธีคิดใหม่ทำให้สัดส่วนหนี้สูงขึ้นเป็น 90.6% ของ GDP แบงก์ชาติเล็งเห็นปัญหาของประชาชนบางกลุ่มยังแก้หนี้ไม่สำเร็จ จึงออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนชุดใหญ่และจะมีผลบังคับใช้ในปี2567 เป็นต้นไป  

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากโควิด 19 ชัดเจน ส่งผลให้รายได้ของลูกหนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ขณะที่รายได้ลูกหนี้บางกลุ่มยังฟื้นตัวช้า ธปท. จึงออกมาตรการที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยจะยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้

  1. หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้
  2. หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้
  3. หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต
  4. หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ 

โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) 

 สาระสำคัญของการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 
 responsible lending 

  1. ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ได้แก่ 
  • ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ ต้องโฆษณาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้เป็นหนี้เกินตัว
  • ระหว่างเป็นหนี้ ส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge) รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เช่น ทำระบบอัตโนมัติให้ลูกหนี้จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย
  • เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถใน
    การชำระหนี้ของลูกหนี้ และ
  • เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม

    2.ผู้ให้บริการต้องดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (คนเป็นหนี้เรื้อรัง หมายถึง จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา)
    |
  • โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) ที่มีรายได้น้อยและเป็นหนี้เรื้อรัง ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ (opt-in) ต้องปิดวงเงิน revolving ดังกล่าว เพื่อไม่ก่อหนี้เพิ่ม และควรมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าลูกหนี้ได้ปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ มาตรการ responsible lending นี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนที่เกี่ยวกับการแก้หนี้เรื้อรัง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เพื่อให้ผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับระบบงาน และจะทยอยใช้ตามระดับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ให้บริการแต่ละกลุ่ม

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) โดยมาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสินเชื่อที่ดี โดยจะยังไม่มีการยกเลิกหรือขยับเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นการทั่วไป

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2567 ธปท. จะให้ผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด[1] เข้าทดสอบการให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นเวลา 1 – 2 ปี โดยผู้ให้บริการต้องเสนอระบบประเมินความเสี่ยงและรูปแบบการกระจายตัวของดอกเบี้ยในแต่ละกลุ่มลูกหนี้ให้ ธปท. พิจารณาก่อนเข้าทดสอบ และเมื่อผ่านการทดสอบ ผู้ให้บริการจึงจะให้สินเชื่อภายใต้เพดานดอกเบี้ยใหม่ได้ โดย ธปท. จะกำหนดหลักเกณฑ์การออกจากโครงการ Sandbox ที่วัดความสำเร็จได้ชัดเจน สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ผ่านการทดสอบจะต้องกลับไปใช้เพดานดอกเบี้ยเดิม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ธปท. จะดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้อย่างแท้จริง

สำหรับมาตรการ DSR ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ให้ลูกหนี้มีรายได้หลังชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน (เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการอาจพิจารณาให้สินเชื่อได้เกิน DSR ที่กำหนดได้ หากแสดงให้เห็นได้ว่าลูกหนี้มีความสามารถเพียงพอที่จะชำระหนี้ เพื่อลดโอกาสที่ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องออกไปนอกระบบ ในเบื้องต้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการนี้ในปี 2568 โดยจะประเมินสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งการบังคับใช้มาตรการ จะต้องสื่อสารล่วงหน้าให้ประชาชนและผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับตัว

นอกจากการดำเนินการตามแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนข้างต้นแล้ว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น
(1) การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน 
(2) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทุกประเภท
(3) การมีกลไกให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยหนี้เป็นระบบ และ

(4) การวางรากฐานให้กับประเทศ ทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตและข้อมูลทางเลือกที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ ตลอดจนการสร้างรายได้ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวย้ำว่า “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ช่วยแก้ปัญหาหนี้เดิม ดูแลหนี้ใหม่ และทำให้หนี้ครัวเรือนไทยลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืนซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน"

 

แชร์
เป็นหนี้เรื้อรัง จบหนี้ได้ใน  5 ปี สำรวจมาตรการ ธปท.แก้หนี้ครัวเรือน