ยังคงอยู่ในความไม่แน่นอนสำหรับการเมืองไทย หลังพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกลยังไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งรัฐบาล แต่ในเมื่อตอนนี้ ‘พรรคเพื่อไทย’ พรรคอันดับ 2 ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลแล้ว แคนดิเดตที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้น ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่พรรคเพื่อไทยน่าจะส่งลงสนามในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค. ที่จะถึงนี้
ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กันอีกครั้งผ่าน 4 มุมชีวิต ก่อนที่จะไปลุ้นกันว่าเขาคนนี้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ หรือว่าจะมีแคนดิเดตนายกส้มหล่นคนไหนโผล่ขึ้นมาเป็นตัวเต็งอีก
นาย เศรษฐา ทวีสิน มีชื่อเล่นว่า “นิด” เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ปี 2506 และเป็นบุตรชายคนเดียวของร้อยเอกอำนวย ทวีสิน กับชดช้อย จูตระกูล ปัจจุบันอายุ 61 ปี ปัจจุบัน สมรสกับ พญ. พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ และ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายณภัทร ทวีสิน "น้อบ", นายวรัตม์ ทวีสิน “แน้บ” และ นางสาวชนัญดา ทวีสิน “นุ้บ"
ด้านการศึกษาเขาจบการศึกษาปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ-การเงิน จากมหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate School) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนระดับบัณฑิตศึกษา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากเรียนจบมาปี 2529 เศรษฐาก็เริ่มต้นการทำงานในแวดวงธุรกิจด้วยการเข้าไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) เป็นเวลา 4 ปี ก่อนย้ายไปทำงานที่ บจก. แสนสำราญ ของ อภิชาติ จูตระกูล (ลูกพี่ลูกน้อง) ซึ่งภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
จากข้อมูลจากแสนสิริ เศรษฐาเข้ามารับตำแหน่งงานครั้งแรกที่บริษัทเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2538 โดยก่อนหน้านี้เขานั่งตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ก่อนขึ้นเป็นประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ และได้ทำผลงานในการบริหารธุรกิจในด้านอสังหาริมทรัพย์ไว้มากมาย และสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับแสนสิริมาตลอด โดยในปี 2565 ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายที่เขาทำงานให้กับแสนสิริ แสนสิริทำรายได้ไปมากถึง 34,983 ล้านบาท
นอกจากนี้ เขายังมีภาพลักษณ์เป็นนักธุรกิจหัวสมัยใหม่ ที่นอกจากจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพูดคุยกับคนสมัยใหม่และบุคคลทั่วไปเป็นประจำแล้ว ยังเคยทำโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Zero Dropout ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือเด็กชั้นประถมที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และ No One Left Behind ซึงเป็นโครงการช่วยอุดหนุนสินค้าเกษตรกร โดยการนำมาแจกให้ลูกบ้านแสนสิริ
สำหรับงานด้านธุรกิจนอกเหนือจากการเป็นผู้บริหารแสนสิริ เขายังเคยดำรงตำแหน่งตำแหน่งกรรมการในกว่า 30 บริษัท เช่น
ปัจจุบัน เศรษฐาประกาศลาออกและพักงานชั่วคราวจากตำแหน่งด้านธุรกิจทั้งหมดแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าทำงานด้านการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
ในขณะที่เศรษฐายังดำรงตำแหน่งเป็นประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ เขาเคยเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 4 ในบริษัท โดยถือหุ้นรวมจำนวนทั้งสิ้น 661,002,734 หุ้น หรือ 4.44% ของบริษัท ในปัจจุบัน หุ้นทั้งหมดนี้ถูกโอนให้แก่ นางสาวชนัญดา ทวีสิน ผู้เป็นบุตรสาว
ก่อนหน้าที่จะขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน มีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารและรัฐบาลทหาร แสดงออกความคิดเห็นด้านการเมืองมาตลอด โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เขามักจะใช้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนบนโลกออนไลน์
โดยในปี 2556-2557 เศรษฐาได้แสดงตัวว่าไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า กปปส. อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ในปี 2557 หลังมีการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้ออกคำสั่งเรียกให้เขาไปรายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์
ต่อมาเมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด เขาก็ได้ออกมาออกตัวสนับสนุนผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารเหล่านี้อีก
อย่างไรก็ตาม บทบาทของเขาในฐานะนักการเมืองก็มีความชัดเจนขึ้นเมื่อในเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ประกาศตัวเป็นเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ผ่านทวิตเตอร์ ก่อนที่วันที่ 1 มี.ค. 2566 พรรคเพื่อไทยจะเปิดตัวเศรษฐาขึ้นเป็น "ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย" ให้กับ แพทองธาร ชินวัตร
บทบาทของเขาในพรรคเพื่อไทย และความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัวชินวัตร ทำให้เศรษฐาเริ่มเป็นที่จับตามองในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก่อนที่ข้อสังเกตของหลายๆ ฝ่ายจะได้รับการยืนยันในวันที่ 5 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่เขาถูกประกาศชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย พร้อม แพทองธาร ชินวัตร และชัยเกษม นิติสิริ อย่างเป็นทางการ
ในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา เขาประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาจะไม่ยอมนำรัฐบาลหากพรรคเพื่อไทยต้องไปจับมือพรรคของฝ่ายรัฐบาลเก่าอย่างรวมไทยสร้างชาติของประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลังประชารัฐของประวิตร วงศ์สุวรรณ และต้องการจะร่วมรัฐบาลกับพรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกล
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อในตอนนี้หลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดอันดับ 3 และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน แสดงออกชัดเจนว่าจะไม่ยอมออกเสียงให้เพื่อไทยหากยังจับมือกับก้าวไกล สถานการณ์ในตอนนี้ก็ยังไม่แน่นอนว่าเพื่อไทยจะตัดสินใจดำเนินการไปทางไหนต่อ เพราะถ้าหากขาดเสียงจากฝั่งเหล่านี้เพื่อไทยก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน
เรียกได้ว่าตอนนี้การเมืองไทยกำลังอยู่ในทางแยก และไม่ว่าจะเลือกไปทางไหนย่อมส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็ต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่าในวันที่ 27 นี้เราจะได้นายกฯ คนใหม่หรือไม่ และเป็นใคร และสังคมจะมีเสียงตอบรับอย่างไรกับผลลัพธ์นี้