ญี่ปุ่นขึ้นค่าขั้นต่ำ แรงสุดเป็นประวัติการณ์ ทะลุ 1,000 เยน (240 บาท) ต่อชั่วโมง ช่วยครัวเรือนรับมือเงินเฟ้อ ด้านตัวเลขจำนวนประชากรลดฮวบพร้อมกันทุกจังหวัด ทั้งประเทศ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แถลงการณ์ของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นระบุว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาของกระทรวงฯ จะเสนอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ 41 เยน (4.3% จากระดับเดิม) สู่ระดับ 1,002 เยนในปีงบประมาณนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นค่าแรงมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มใช้การจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมงเป็นมาตรฐานในปี 2545
Bloomberg รายงานว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นได้ปรับตัวสูงกว่าค่าแรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยค่าจ้างที่เป็นเงินสดโดยรวมสำหรับแรงงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนพ.ค. แต่หลังหักลดตามเงินเฟ้อแล้ว พบว่าลดลง 1.2%
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การจะคงระดับเงินเฟ้อไว้ให้สูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ 2% นั้น จำเป็นต้นปรับขึ้นค่าจ้าง 3% โดยเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ค.) ที่ผ่านมา BOJ ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณนี้สู่ระดับ 2.5% จากระดับ 1.8% ในเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ตาม BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่ำกว่า 2% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ประชากรญี่ปุ่นลดฮวบทุกจังหวัดพร้อมกันครั้งแรก
ดูเหมือนว่าปัญหาที่ภาคแรงงานของญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องค่าแรงโตไม่ทันเงินเฟ้อ แต่ยังเป็นปัญหาด้านจำนวนประชากร เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 32 ของประชากรทั้งประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศในปี 2564 รวมอยู่ที่ 122,423,038 คน ลดลง 801,000 คน ถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุด และเป็นครั้งแรกที่ประชากรลดลงพร้อมกันทั้ง 47 จังหวัดของประเทศ
ผลสำรวจทางประชากรศาสตร์จากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ระบุว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่น ซึ่งนับรวมผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ รวมอยู่ที่ 125,416,877 คน เมื่อนับถึงวันที่ 1 ม.ค. 2566 ซึ่งลดลงจากปีก่อนราว 511,000 คน
ปัญหา ‘จำนวนการเกิดใหม่ในญี่ปุ่นต่ำเป็นประวัติการณ์’ อยู่ที่ 772,000 คน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 14 ในปี 2565 สวนทางอย่างมีนัยสำคัญกับจำนวนการเสียชีวิตที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.57 ล้านราย
ขณะเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นมีต่างชาติอาศัยอยู่รวม 2,993,839 คนในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 289,498 คน และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากการผ่อนปรนข้อจำกัดการเข้าเมืองอันเกี่ยวพันกับการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ดึงให้นักเรียนนักศึกษาและผู้ฝึกงานด้านเทคนิคจากต่างชาติกลับมายังญี่ปุ่น
สำหรับผลสำรวจระดับจังหวัด มีเพียง “โตเกียว” ที่จำนวนประชากรโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการไหลทะลักเข้าสู่เมืองหลวงของชาวต่างชาติ ด้านจังหวัดอาคิตะทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นมีประชากรลดลงมากที่สุดที่ 1.65%
ที่มา : Bloomberg , Xinhua