ในวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยทุกคน นั่นก็คือการเพิ่มเกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ จากประชาชนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้รับผลประโยชน์หรือสวัสดิการจากรัฐในทางอื่น มาเป็นประชาชนอายุ 60 ปี ที่นอกจากจะไม่มีสวัสดิการรัฐอย่างอื่นแล้วยังต้องไม่มีเงินพอยังชีพในชีวิตประจำวันด้วย
การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะบางคนมองว่าการเพิ่มเกณฑ์นี้จะเพิ่มความยุ่งยากในการพิสูจน์รายงานตน ทำให้อาจมีการตกหล่น อีกทั้งยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสถานะ ทั้งค่าแรงคน ค่าเอกสาร ซึ่งอาจจะพอๆ กับเงินที่รัฐบาลจะประหยัดไปจากการใช้เกณฑ์นี้
นอกจากนี้ ยังมีผู้วิจารณ์อีกด้วยว่า เงินยังชีพที่ให้ในแต่ละเดือนนั้นก็น้อยจนไม่พอใช้อยู่แล้ว ถ้าไปตัดสวัสดิการนี้ออกอีก ผู้สูงอายุและครอบครัวผู้ดูแลจะเสียแหล่งรายได้อีกทางที่ช่วยแบ่งเบาความลำบากได้ และเป็นการทอดทิ้งผู้สูงอายุหลายคนที่ล้วนเคยเป็นหนุ่มสาว ทำงานเพื่อสร้างรายได้และภาษีให้กับประเทศมาก่อน
ในวันนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีระบบบำนาญและสวัสดิการผู้สูงอายุที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุของไทยอยู่ตรงไหน และมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง
จากการจัดอันดับ Global Pension Index ปี 2020 ของ Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการทรัพย์สินจากสหรัฐฯ ประเทศที่มีระบบบำนาญผู้สูงอายุที่ดีที่สุดในโลกคือ ‘ไอซ์แลนด์’ ประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติก ในขณะที่ ‘ไทย’ รั้งท้ายที่อันดับที่ 44 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย แพ้ให้กับทุกประเทศเอเชียอื่นที่อยู่ในอันดับ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ที่มีขนาดและระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจพอๆ กับไทย
โดยจากรายงาน ไทยได้คะแนนย่ำแย่หมดในทั้ง 3 เกณฑ์ ที่ Mercer นำมาประเมินระบบบำนาญผู้สูงอายุในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
ในปัจจุบัน ระบบบำนาญและสวัสดิการผู้สูงอายุของไอซ์แลนด์มี 3 ขาด้วยกันคือ
โดยตามกฎหมาย ผู้ที่มีสิทธิจะรับเงินประกันสังคมหลังเกษียณของไอซ์แลนด์ต้องเป็น
เงินที่รัฐบาลให้กับผู้รับประโยชน์จะถูกคิดจากระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชนในประเทศ ควบคู่ไปกับปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ตัวเลขไม่เหมือนกันในแต่ละปี อย่างเช่นในปี 2020 เงินประกันสังคมเต็มจำนวนคือ 3,081,468 โครนาไอซ์แลนด์ หรือราว 820,000 บาทต่อปี หริอ 68,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 33% ของรายได้เฉลี่ยของไอซ์แลนด์ในปีนั้น
นอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือสำหรับความจำเป็นอย่างอื่นอีก เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่ายานพาหนะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการขยับตัวและเดินทาง ค่ายา ค่าพยาบาลรักษาที่บ้าน หรือค่าไฟสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
อย่างไรก็ตาม จากเกณฑ์จะเห็นได้ว่าไอซ์แลนด์มีความคล้ายกับระบบของไทยในปัจจุบันอย่างหนึ่งคือการจำกัดไม่ให้เงินกับผู้ที่มีรายได้เกินระดับที่กำหนด เพราะไอซ์แลนด์จะให้เงินประกันสังคมน้อยลง หรือไม่ให้เลยในกรณีที่ผู้สูงอายุคนนั้นมีรายรับประจำสูงพอๆ กับเงินช่วยเหลือ เพราะถือว่ามีความสามารถในการเลี้ยงชีพพอสมควรแล้ว
นี่ทำให้เมื่อเทียบกับประเทศนอร์ดิกหรือยุโรปอื่นๆ ที่ส่วนมากให้เงินผู้สูงอายุแบบไม่มีจำกัดระดับรายได้ การกระจายรายได้ในหมู่ผู้สูงอายุของไอซ์แลนด์จะมีความเท่าเทียมมากกว่า
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อยู่ได้ด้วยการเก็บภาษีรายได้ในระดับสูง คือถึง 31.45-46.25% ของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งรายได้ที่ว่านี้ก็รวมไปถึงเงินบำนาญที่ผู้สูงอายุได้รับในแต่ละเดือนด้วย ทำให้ไอซ์แลนด์สามารถเก็บเงินเข้ามาหมุนเวียนเบิกจ่ายให้กับผู้สูงอายุทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การเพิ่มเกณฑ์ให้รัฐบาลจ่ายเงินยังชีพสำหรับเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่พอยังชีพอย่างไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนัก ถ้าผู้สูงอายุทุกคนในไทยที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าวมีรายได้ในระดับที่พอยังชีพจริง และเงินเบี้ยยังชีพนั้นเพียงพอให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นจริงๆ
รัฐบาลไทยควรจะเพิ่มวินัยในการใช้จ่ายงบประมาณและการกู้หนี้ รวมไปถึงพัฒนาระบบเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อาจจะทั้งด้วยการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีกับผู้ที่มีรายได้สูง และลดการใช้จ่ายงบประมาณกับสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีความเร่งด่วนสำหรับประชาชน เช่นการซื้ออาวุธ รวมไปถึงพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มค่าแรงให้ประชาชนยังสามารถรักษาคุณภาพชีวิตไว้ได้ถึงแม้จะต้องเสียภาษีมากขึ้น และการสนับสนุนให้มีการเกิดเพื่อสร้างประชาชนมาทำงานสร้างผลิตผลในระบบเศรษฐกิจและเสียภาษีอุ้มชูผู้สูงอายุที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
นี่ทำให้การพัฒนาระบบบำนาญของประเทศต้องเป็นการพัฒนาไปอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพราะเป็นระบบที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและประชาชน และถ้าหากภาครัฐไม่สามารถสร้างระบบบำนาญที่มีเงินหมุนเวียนอย่างประสิทธิภาพได้ ในอนาคตผู้สูงอายุไทยก็จะถูกทอดทิ้ง และกลายเป็นภาระทางการเงินของลูกหลานที่ต้องดิ้นรนในระบบเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นเดียวกัน