การปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น ได้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้วตั้งแต่วันพฤหัสบดี ที่24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ รวมไปถึงหลายประเทศที่ได้ห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยืนยันและเชื่อมั่นว่า น้ำที่ถูกปล่อยลงทะเลนั้น มีความปลอดภัยเพราะได้ผ่านการบำบัดและมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
ทำไมญี่ปุ่นต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีลงทะเล?
ย้อนกลับไปเมื่อตอนญี่ปุ่นเจอกับเหตุการณ์สีนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 ครั้งนั้นเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงจนตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัด ฟุกุชิมะ อยู่ห่างจากโตเกียว ราว220 กิโลเมตร อีกด้วย
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หยุดทำงาน เกิดความร้อนจัดจนหลอมละลาย ความรุนแรงของเหตุการณ์ปี 2011 ได้มีกัมมันตรังสีเริ่มรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมและ บริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (Tokyo Electric Power--Tepco)หรือ TEPCO ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และสถานการณ์มาโดยตลอด จนเกือบที่จะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเลิกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถเลิกใช้ได้ด้วยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโลกสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ผ่านมา 12 ปี ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจปล่อยน้ำที่ใช้ในการลดความร้อนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งมีปริมาณมากถึงราว 1,000 แทงค์ หรือ 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะใกล้เต็มปริมาณการเก็บแล้ว โดยญี่ปุนจะค่อยๆปล่อยน้ำดังกล่าวลงทะเลเป็นระยะเวลา 30-40 ปี ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีกัมมันตภาพรังสี โดยเฉพาะ ทริเทียม (tritium) ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล และมนุษย์ที่จะเป็นผู้บริโภคหรือไม่? ซึ่งทางการญี่ปุ่น และ TEPCO ยืนยันว่า มีวิธีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงทะเลอย่างปลอดภัยแน่นอน และทางทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองว่า น้ำที่ผ่านการบำบัดมีค่าการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นกำลังปั่นป่วน
เทโคคุ ดาต้าแบงก์ บริษัทวิจัยด้านตลาดของญี่ปุ่น ระบุว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น727 ราย กำลังได้รับผลกระทบจากการที่จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น ซึ่งคิดเป็น 8% ของบริษัทญี่ปุ่นทั้งหมดที่ส่งออกสินค้าไปยังจีน นอกจากนี้แล้ว ยังมีบริษัทส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นไปยังฮ่องกงอีก 316 แห่งที่ได้รับผลกระทบ หลังจากฮ่องกงประกาศระงับการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 ภูมิภาคของญี่ปุ่นด้วยเหตุผลเรื่องการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเช่นเดียวกัน
ขณะที่เกาหลีใต้เอง มีประชาชนออกมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล แม้ว่ารัฐบาลของเกาหลีใต้ จะเห็นชอบกับการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นแล้วโดยตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยได้มาตรฐาน จึงกลายเป็นกระเสโจมตีรัฐบาลเกาหลีใต้ไปด้วย และมีการสำรวจผู้บริโภคในเกาหลีใต้เอง ที่จะลดการบริโภคอาหารทะเลจากญี่ปุ่นลงอีกด้วย
ฟากของรัสเซีย ซึ่งเดิมทีเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลไปยังจีนอยู่แล้ว โดยมีบริษัทรัสเซีย 894 แห่งได้รับอนุญาตให้ส่งออกอาหารทะเล คาดหวังว่าจะเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลไปยังจีนอีกหลังจีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น
แถลงการณ์ระบุว่า จีนเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัสเซียระหว่างเดือนม.ค.-ส.ค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาพอลลอค ปลาแฮร์ริ่ง ปลาลิ้นหมา ปลาซาร์ดีน ปลาค็อด และปู ด้านการประมงของรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเล 2.3 ล้านตันในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.1 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณการจับสัตว์ทะเลทั้งหมด โดยจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด
กรมประมงของไทย ยกระดับเฝ้าระวังตรวจสอบอาหารทะเล
สำหรับประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่จำนวนมากกว่า 5 พันร้านทั่วประเทศก็กำลังตื่นตัว เตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้เช่นกัน แต่ล่าสุด นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ยืนยันว่า จากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบันค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสียังไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่นที่ตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 4,375 ตัวอย่างในปี 2565 จนถึงเดือน เม.ย.66 ยังไม่พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งหากพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดก็จะสั่งเรียกคืนหรือระงับการนำเข้าทันที
ทั้งนี้กรมประมงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบการนำเข้าปลาและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ณ ด่านศุลกากร ตั้งแต่ปี 2559 จากการถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวด โดยยกระดับการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากแผนปฏิบัติงานประจำปี มุ่งเน้นการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากเมืองที่มีความเสี่ยง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น โตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุมมะ โทจิงิ อิบารากิ มิยางิ นีงะตะ นากาโนะ ไซตามะ เป็นต้น โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้มีการนำเข้าอาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย
หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใดสงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมประมง 0-2579-1878 หรือ 0-2579-3614-5 ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต หรือสายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด
ญี่ปุ่น ย้ำ น้ำทะเลรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ยังปลอดภัย
กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นระบุว่า การทดสอบตัวอย่างจากพื้นที่ 11 จุดใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ได้ข้อสรุปว่า ความเข้มข้นของทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี นั้นต่ำกว่าขีดจำกัด 7 - 8 เบคเคอเรลต่อลิตร ดังนั้นน้ำทะเลจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ด้านบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระบุเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ส.ค.ว่า น้ำใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นปนเปื้อนทริเทียมต่ำกว่า 10 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดที่ทางบริษัทกำหนดไว้ที่ 700 เบคเคอเรลต่อลิตรและต่ำกว่าขีดจำกัดสำหรับน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นจะเผยแพร่ผลการทดสอบกัมมันตรังสีรายสัปดาห์อย่างน้อย 3 เดือน จากนั้นจะพิจารณากรอบเวลาในการเปิดเผยการทดสอบกัมมันตรังสีอีกครั้งในภายหลัง
อ้างอิงข้อมูล นิเคอิเอเชีย , บีบีซีไทย , ประชาชาติธุรกิจ ,รอยเตอร์