นับเป็นภารกิจระหว่างประเทศครั้งแรกของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย โดยเดินทางไปนครนิวยอร์กของสหรัฐฯเพื่อร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78)
บทบาทของคุณเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยถูกจับตามองในเวทีโลกว่าจะเกิดความร่วมมือระดับพหุพาคี และ ทวิภาคี มากน้อยแค่ไหนอย่างไรซึ่งภาพที่เห็นคือนายกรัฐมนตรี ประกาศในการประชุมสหประชาชาติว่า ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนอยู่แล้ว SDG (Sustainable Development Goals) และไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030
สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ขณะเดียวกันไทยตั้งเป้าหมายจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกด้วย
ก้าวแรกดึง BlackRock ลงทุนในไทย
นอกจากการแสดงจุดยืนของประเทศไทยผ่านเวทีสหประชาชาติแล้ว หลายคนจับตาการหารือของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา กับ นักธุรกิจระดับโลกอย่าง BlackRock , Google , Tesla และบริษัทบิ๊กเทคอีกหลายราย
สำหรับ BlackRock เป็นบริษัทบริหากองทุนขนาดใหญ่เบอร์ 1 ของโลกมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2023 จำนวน 9.43 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ 310 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยเป็น 100 เท่าตัว และปัจจุบันมีหลายกองทุนใหญ่ของไทย เช่น ประกันสังคม และ กบข. ก็มีการลงทุนผ่านการซื้อหน่วย Exchange Traded Fund (ETF) ของ BlackRock อย่างต่อเนื่อง
ข่าวดีก็คือการพบกัน ระหว่างนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กับ Mr. Larry Fink CEO กลุ่มบริษัท BlackRock ได้แสดงความสนใจในการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งแนวทางการลงทุนของ BlackRock มุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจสีเขียว หรือ BCG และไม่ได้สนใจเฉพาะร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังสนใจการลงทุนในกลุ่มธุรกิจ SME ในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันBlackRock ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนใน Sustainability Linked Bond ที่จะออกโดยรัฐบาลไทยในปีหน้าด้วย
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานการปฏิบัติภารกิจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการพบหารือกับนาย Larry Fink CEO กลุ่มบริษัท BlackRock ว่า การลงทุนด้านความยั่งยืน เป็น MEGA Trends ของโลกและการลงทุนเส้นทางนี้แตกต่างจากการลงทุนในเส้นทางเดิม เพราะทิศทางความยั่งยืนจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งทำให้ค่าจ้างจะสูงตามไปด้วย การที่ BlackRock แสดงความสนใจชัดเจนในการลงทุนในไทยจึงนับเป็นข่าวดี เพราะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
นอกจากนี้การลงทุนในเส้นทางความยั่งยืน ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีแค่เม็ดเงินด้านเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจ BCG ในประเทศไทยอย่างมากที่อนาคตกำลังจะมีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนเพิ่มขึ้น
สำหรับจุดยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มีดังนี้
- ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า
- ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ 2027
- ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030
“ผมหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป”นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าว