ข่าวเศรษฐกิจ

หนี้ทั่วโลกพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ แตะ 1.1 หมื่นล้านล้านบาท ไทยหนี้ครัวเรือนสูง

21 ก.ย. 66
หนี้ทั่วโลกพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ แตะ 1.1 หมื่นล้านล้านบาท ไทยหนี้ครัวเรือนสูง

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เผยหนี้ทั่วโลกทะลุระดับสูงสุดไปเรียบร้อยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 โดยปัจจุบันอยู่ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,080 ล้านล้านบาท พบประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก่อหนี้มากสุด ส่วนไทยหนี้ครัวเรือนยังสูงกว่าระดับก่อนโควิด

จากรายงานที่เปิดเผยออกมาในวันที่ 19 กันยายน หนี้ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2023 และ เพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกันไปอยู่ที่ 336% ของ GDP หลังจากลดลง 7 ไตรมาสรวดในช่วงก่อนหน้า

IIF เผยว่าสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นคือการที่เศรษฐกิจและราคาสินค้าทั่วโลกชะลอการเติบโตลดลง เพราะก่อนหน้านี้สัดส่วนหนี้ลดลงจากการที่เงินเฟ้อ ผู้คนมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้ IIF คาดว่าส่วนส่วนหนี้ต่อ GDP จะขึ้นไปถึง 337% เพราะโลกยังอยู่ในภาวะดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจยังชะลอ ทำให้ภาระหนี้ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนทั่วโลกยังไม่มีปัจจัยอะไรมาช่วยให้ลดลงได้

 

สหรัฐฯ ญี่ปุ่นก่อหนี้สูง หนี้ครัวเรือนไทยยังไม่ลง

IIF เผยหนี้กว่า 80% ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาเป็นหนี้ที่ก่อโดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่วนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่หรือ emerging markets ประเทศที่ก่อหนี้มากที่สุดคือประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และบราซิล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้ครัวเรือน พบว่าประเทศที่ก่อหนี้มากที่สุดและยังไม่สามารถกลับลงไปอยู่ในระดับก่อนโควิดได้คือหนี้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน เกาหลีใต้ และไทย 

จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยพบว่าส่วนมากเป็นการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมากที่สุด 

ทั้งนี้ นอกจากจะก่อนหนี้เพิ่มแล้ว คนไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลง โดยในไตรมาสที่ 1 ไทยมีหนี้เสีย หรือหนี้ NPLs มูลค่ารวมถึง 1.44 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.68% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.62% จากไตรมาสก่อน โดยหนึ่งในการใช้จ่ายที่สร้างหนี้เสียและมีความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียมากที่สุดคือ ‘สินเชื่อยานยนต์’ ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

โดยในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วน Special Mention Loans หรือ SML หรือ ต่อสินเชื่อรวมยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

 

 

ที่มา: Reuters, WION

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT