สื่อนอกรายงาน ‘อินเดีย’ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก อาจเริ่มหยุดส่งออกน้ำตาลอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อตรึงราคาน้ำตาลที่พุ่งสูง และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบพื้นที่ปลูกอ้อยอย่างหนักจนผลิตลด โดยน้ำตาลเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 2 ต่อจากข้าวที่อินเดียงดส่งออกเพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้น
ในวันที่ 28 ก.ย. สำนักข่าว Money Control อ้างอิงแหล่งข่าวภายในรัฐบาลอินเดียว่า อินเดียกำลังจะแบนการส่งออกน้ำตาลในฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม หลังสำนักข่าว Reuters ออกมารายงานเมื่อเดือนสิงหาคมว่า รัฐบาลอินเดียมีแผนจะหยุดส่งออกน้ำตาลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อตรึงราคาน้ำตาลและเก็บผลผลิตไว้ป้อนความต้องการภายในประเทศ รวมถึงการนำอ้อยส่วนเกินไปใช้ผลิตเอทานอลด้วย
ทำไมอินเดียจึงหยุดส่งออกน้ำตาล?
เช่นเดียวกับที่หยุดส่งออกข้าว อินเดียตัดสินใจหยุดส่งออกน้ำตาลเพื่อควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศ เพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงไปด้วย
จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย ปริมาณน้ำฝนจากฤดูมรสุมในพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญของอินเดีย เช่น พื้นที่ทางตะวันตกของรัฐมหาราษฏระ และพื้นที่ทางใต้ของรัฐกรณาฏกะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอ้อยมากกว่า 50% ของประเทศ ซึ่งขณะนี้ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยถึง 50% ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในปัจจุบันลดลง และอาจจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศในฤดูกาลใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงปลายปีลดลง 3.3% ไปอยู่ที่เพียง 31.7 ล้านตัน
การที่ปริมาณผลผลิตลดลง ส่งผลให้ราคาของน้ำตาลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพราะน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารที่สำคัญมากของอินเดีย และซ้ำเติมด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเหตุให้อินเดียตัดสินใจหยุดส่งออกข้าวทุกประเภทมาแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อตรึงราคาข้าวภายในประเทศ
Reuters รายงานว่า ราคาน้ำตาลในอินเดียพุ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในรอบ 6 ปีในต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยขึ้นไปอยู่ที่ 37,760 รูปี หรือราว 16,566.52 บาท/ ตัน ซึ่งถึงแม้จะสูงมากสำหรับอินเดียแล้ว แต่ราคาน้ำตาลในอินเดียก็ยังต่ำกว่าราคากลางในตลาดโลกอยู่ถึง 38% สะท้อนว่า หากอินเดียหยุดการส่งออกน้ำตาลจริง ราคาน้ำตาลในโลกก็จะยิ่งพุ่ง ทำให้ราคาอาหารในโลกอาจพุ่งสูงขึ้นมากกว่าเดิม
การหยุดส่งออกน้ำตาลของอินเดียจะส่งผลอย่างไร?
ปัจจุบัน อินเดียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 15.6% ตามหลัง ‘บราซิล’ ที่กินส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดที่ 46.5% และตามด้วย ‘ไทย’ ที่กินส่วนแบ่งตลาด 6.1% โดยในปีงบประมาณ 2022 อินเดียส่งออกน้ำตาลทั้งหมดถึง 10 ล้านตัน ส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก
ฉะนั้น หากอินเดียหยุดส่งออกน้ำตาล ผู้ที่นำเข้าน้ำตาลของอินเดีย โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และซูดาน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาล 3 อันดับแรกจากอินเดีย จะได้รับผลกระทบโดยตรง และถูกบังคับให้พยายามแย่งหาน้ำตาลจากผู้ส่งออกอื่น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 และ 3 อย่าง บราซิล และ ไทย จะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มมากขึ้น ในระดับราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ต้องควบคุมให้ดี เพราะทั้งบราซิลและไทยเองนั้น ก็กำลังจะประสบกับปัญหาจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ลานีญา และสภาพอากาศแปรปรวนเช่นเดียวกัน ทำให้หากเน้นการส่งออกมากจนไม่คิดถึงความต้องการภายในประเทศก็จะเกิดปัญหา
โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวเพิ่มสูงสุดในรอบ 12 ปี ตามการคาดการณ์สภาวะอากาศที่ร้อน และแห้งแล้งในบราซิล แรงหนุนจาก ค่าเงินเรียล บราซิลเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวถึงระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน