นักวิเคราะห์ชี้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์อาจลุกลามกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคระหว่างชาติตะวันออกกลาง อย่างอิหร่านและอิสราเอลที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้
สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีด้วยการส่งมิสไซล์ระยะไกล พร้อมกลุ่มทหารติดอาวุธข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซาเข้าไปโจมตีอิสราเอล สังหารประชากรชาวอิสราเอลและคนชนชาติอื่นๆ ในพื้นที่ไปถึง 1,300 คน และจับตัวประกันไปเป็นจำนวนมาก เพื่อทำสงครามทวงคืนพื้นที่ดั้งเดิมของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดไปในความขัดแย้งครั้งก่อนหน้า นับเป็นการปะทะกันด้วยกำลังทางการทหารครั้งล่าสุดในความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ที่ดำเนินมาอย่างน้อยกว่า 100 ปีแล้ว
ปัจจุบัน การปะทะกับระหว่างกองทัพของอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงสำหรับประชาชนทั้งสองฝั่ง ทั้งชาวอิสราเอลบางส่วนที่ยังถูกจับเป็นตัวประกัน และชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่เสียชีวิตไปกว่า 2,600 รายแล้ว ด้วยการทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงของอิสราเอล ขณะที่คนที่ยังอยู่ในพื้นที่ยังคงหาทางหลบหนีได้อย่างยากลำบาก
ความรุนแรงที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ความขัดแย้งนี้เสี่ยงลุกลามกลายไปเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคระหว่างประเทศตะวันออกกลางและอิสราเอล เพราะกลุ่มฮามาสมีพันธมิตรระดับภูมิภาคจำนวนมาก รวมถึงอิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศตะวันออกกลาง และการสนับสนุนอิสราเอล
หากเกิดการลุกลามเกิดขึ้นจริง ความขัดแย้งที่ใหญ่ขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประชากรทั้งโลก เพราะประเทศตะวันออกกลางเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก และเป็นผู้คุมเส้นทางการส่งออกน้ำมัน ทำให้หากเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ขึ้นจะเกิดแรงกดดันด้านอุปทาน และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก
แม้ขณะนี้ความขัดแย้งนี้จะยังถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ของอิสราเอลและปาเลสไตน์ นักวิเคราะห์และสื่อต่างประเทศต่างๆ มองว่า สงครามนี้ยังมีโอกาสลุกลามได้ เพราะในปัจจุบันพันธมิตรบางกลุ่มของฮามาสก็ได้ออกมาประกาศว่าจะช่วยกลุ่มฮามาสทำสงครามกับอิสราเอลแล้ว เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน
ขณะที่ Hossein Amir-Abdollahian รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Al Jazeera ในวันที่ 15 ต.ค ว่า ความขัดแย้งนี้อาจลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาคได้หากกองทัพอิสราเอลยังไม่หยุดส่งมิสไซล์ถล่มกาซา หรือตัดสินใจข้ามพรมแดน บุกโจมตีกาซาในภาคพื้นดิน
การแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มฮามาสของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ส่งสัญญาณอันตรายให้กับเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้เปราะบางและซบเซาอยู่แล้ว จากภาวะดอกเบี้ยสูงค้างนาน เศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่สงบและยังทำให้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่
โดยถ้าหากลุกลามจริง อุปทานน้ำมันจะลดลงเป็นอย่างมาก เพราะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ อาจตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นมาตรการกีดกันการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน และอาจทำให้อิหร่านตัดสินใจปิดเส้นทางการส่งออกน้ำมัน เช่น ช่องแคบฮอร์มุซที่ปัจจุบันเป็นช่องการการขนส่งน้ำมันวันละถึง 17.2 ล้านบาร์เรล คิดเป็นกว่า 20% ของการขนส่งน้ำมันโลก เห็นได้จากราคาน้ำมันทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นทันทีภายหลังจากความขัดแย้งปะทุขึ้น ด้วยความกังวลว่าจะเกิดแรงกดดันด้านอุปทานดังกล่าว
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ Brent และ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวขึ้นถึง 7.5% และ 9.5% และขึ้นไปมากที่สุดถึง 6% ในวันศุกร์ ก่อนปรับลงเล็กน้อยประมาณ 0.3-0.4% ในวันจันทร์ ขณะนักลงทุนทั่วโลกจับตามองต่อว่าสถานการณ์จะดำเนินไปทางใด
Bloomberg Economics ได้ออกบทวิเคราะห์ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสอาจพัฒนาไปได้ 3 ทางด้วยกัน คือ
โดยหากเป็น ‘สถานการณ์แรก’ ที่ทั้ง 2 ประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์จนความขัดแย้งถูกจำกัดไว้ในกาซาและอิสราเอลได้ ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะมีจำกัด เพราะอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำคัญ แต่อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอีก 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากสหรัฐฯ และชาติตะวันเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งควบคุมได้หากประเทศอื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งออกน้ำมันเพิ่มเพื่อชดเชย
หากเป็น ‘สถานการณ์ดำเนินไปเป็นแบบที่ 2’ ผลกระทบที่มีต่อราคาน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้มีการเกิดสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล โดยราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ไปถึง 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ลดลงเหลือ 2.4% สูญเสียผลผลิตมูลค่าถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเกือบแตะ 6% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ‘หากสถานการณ์ดำเนินไปเป็นแบบที่ 3’ คือ สงครามเต็มรูปแบบระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ความขัดแย้งจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงได้ถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูญเสียผลผลิตมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 36 ล้านล้านบาท และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปแตะ 6.7% ทำให้เป้าหมายของ Fed ที่จะคุมเงินเฟ้อให้เหลือ 2% ห่างไกลออกไป และทำให้ประชากรทั่วโลกต้องเจอทั้งภาวะเงินเฟ้อ และภาวะดอกเบี้ยสูงที่ทำให้ทั้งค่าครองชีพและต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นนานมากขึ้นไปอีก
สำหรับนักวิเคราะห์ของไทยบางส่วน มองว่า เหตุการณ์นี้จะไม่ลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาค เพราะประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ นอกจากอิหร่านไม่ได้ออกมาแสดงความเคลื่อนไหว หรือประกาศสนับสนุนการกระทำของกลุ่มฮามาสอย่างชัดเจน
Maybank Securities ประเมินว่า สงครามที่ปะทุขึ้นในอิสราเอลและฉนวนกาซาจะไม่มีผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดน้ำมันและก๊าซเพราะอิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ และหากความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป ทาง Maybank ยังมองว่า ผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด เพราะประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ นอกจากอิหร่าน ไม่น่าตัดสินใจเข้ามามีเอี่ยวด้วย เพราะประเทศในตะวันออกกลางส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่) ส่วนใหญ่ไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้
โดย Maybank คาดว่า ราคาน้ำมันจะทรงตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัวและการเติบโตของอุปสงค์ที่ฟื้นตัวได้
ส่วนทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า ความกังวลเรื่องสงครามขยายวงกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะ Stagflation หรือ ภาวะที่เงินเฟ้อเงินฝืดเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ทำให้ธนาคารกลางอาจต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าคาด ซึ่งเป็น scenario ที่ไม่เอื้อกับตลาดหุ้น กลยุทธ์การลงทุนจึงควรเน้นแบบตั้งรับมากขึ้น
โดยหุ้นที่คาดว่าจะ outperform ในภาวะนี้ต้องเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดี หนี้น้อย และสามารถปรับราคาขายได้ตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ และมีค่า P/E ที่ไม่สูงไป ได้แก่ กลุ่มพลังงาน, โภคภัณฑ์, การแพทย์, รวมถึงกลุ่มที่ขายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร,ยารักษาโรค, บริการด้านการสื่อสาร เป็นต้น
ในวันนี้ (16 ต.ค.) กสิกรไทยแนะนำหุ้น PTTEP (ราคาพื้นฐาน 180 บาท) เพราะคาดว่าราคาหุ้น PTTEP ปรับตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 5.7% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็น 90.89 ต่อบาร์เรลจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส-ฮิสบอลเลาะห์ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง
โดยหากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ฯ ต่อปี PTTEP จะเพิ่มกำไรสุทธิประมาณ 4.9 พันลบ./ปี และมีมูลค่าตามวิธีคิดลดเงินสด (DCF) ที่ 7 บาท/หุ้น