ข่าวเศรษฐกิจ

‘แลนด์บริดจ์’ สะพานบกเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างแล้วใครได้ ใครเสีย?

10 ม.ค. 67
‘แลนด์บริดจ์’ สะพานบกเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างแล้วใครได้ ใครเสีย?

ในตอนนี้ โครงการหนึ่งของรัฐบาลที่เป็นที่ถกเถียงกันในโลกโซเชียลก็คือ โครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) หรือโครงการสะพานบกเชื่อมท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง มูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท ว่ามีความจำเป็น หรือมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะลงทุนหรือไม่

โดยขณะที่ทางรัฐบาลนำเสนอโครงการนี้ว่าจะเป็นการสร้างศูนย์กลางการขนส่งสินค้าแห่งใหม่ ที่จะดึงดูดการลงทุน และสร้างการจ้างงานมหาศาลสำหรับคนในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั้งในวงการขนส่งและสิ่งแวดล้อมมองว่าไม่คุ้ม และเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักโครงการแลนด์บริดจ์กันว่าคืออะไร และสร้างแล้วจะสร้างผลดีหรือผลเสียสำหรับฝ่ายใดบ้าง

 

ทางเชื่อมย่นระยะขนส่งทางเรือ ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา

ปัจจุบัน การขนส่งทางเรือระหว่างประเทศที่มีเส้นทางจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ผ่านอ่าวไทยไปอันดามัน เข้าสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป คือ ‘ช่องแคบมะละกา’ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายู (มาเลเซียตะวันตก) กับเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นทางน้ำเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ซึ่งอยู่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ และเป็นหนึ่งในทางขนส่งสินค้าที่มีเรือสัญจรมากที่สุดในโลก โดยในปี 2022 ช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์มีเรือเดินทางผ่านถึง 82,819 ลำ

istock-890102178

อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้เป็นการอ้อมแผ่นดินเพื่อขนส่งสินค้าจากทวีปหนึ่งอ้อมไปอีกทวีปหนึ่ง ทำให้เป็นทางเดินเรือที่ค่อนข้างยาว ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ หรือสะพานบกลำเลียงสินค้าข้ามแผ่นดินเป็นทางลัดขึ้นเพื่อลดระยะทางในขนส่งสินค้า ซึ่งในที่นี้ก็คือทางบกตัดผ่านภาคใต้ของไทย เชื่อมระหว่างทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามัน

ในความเป็นจริง โครงการแลนด์บริดจ์ หรือแนวคิดในการตัดทางผ่านเชื่อมแผ่นดินเพื่อเป็นทางขนส่งสินค้าในภาคใต้ของไทย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา แต่เป็นที่พูดถึงมานานในรัฐบาลหลายสมัยตั้งแต่ 20 ปีก่อน แต่ก็เลื่อนมาตลอดเพราะมีความไม่ลงตัวในแผนการก่อสร้าง รวมไปถึงต้องใช้เวลาศึกษาผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างให้ละเอียดถ้วนถี่เสียก่อน 

โดยในวันที่ 16 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ดีมติอนุมัติหลักการโครงการแลนด์บริดจ์เรียบร้อย และในปัจจุบันรัฐบาลได้เริ่มการโร้ดโชว์ (Road Show) เพื่อนำเสนอโครงการนี้แก่นักลงทุนต่างชาติเพื่อระดมทุนในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว

ทางเชื่อมระนอง-ชุมพร รถไฟทางคู่ ถนน 6 เลน และท่อส่งสินค้า

BOI สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร จะต้องใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างทั้งหมด 1,194,307 ล้านบาท และจะประกอบไปด้วยการก่อสร้างใน 4 ส่วนหลักๆ ก็คือ 

  1. การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร (อ่าวไทย) 3 แสนล้านบาท, ท่าเรือฝั่งระนอง (อันดามัน) 3.3 แสนล้านบาท สามารถรองรับตู้สินค้าได้ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู
  2. รถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร 
  3. ทางหลวงและมอเตอร์เวย์ 6 เลน เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร
  4. ระบบขนส่งสินค้าเช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านท่อ หรือระบบ Pipeline

โดยหลังจากโร้ดโชว์เพื่อระดมทุนแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรจะศึกษารูปแบบโมเดลพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) และจัดทำเอกสารควบคู่กับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2024 จากนั้นจะหาผู้รับจ้างในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2025 และเปิดให้บริการได้ในปี 2030
535285

ช่วยลดระยะทางและเวลาขนส่ง กระตุ้นศก.ภาคใต้

จากคำกล่าวของนายเศรษฐา โครงการแลนด์บริดจ์จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางเรือเส้นใหม่ของโลก แก้ไขปัญหาการจราจรผ่านช่องแคบมะละกาที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า โดยมีข้อดีทางเศรษฐกิจ ดังนี้ คือ

  1. การขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์จะช่วยลดเวลาการเดินทางโดยรวมได้ 4 วัน จากเส้นทางเดิมผ่านช่องแคบมะละกาที่ต้องใช้ 9 วัน และลดต้นทุนโดยเฉลี่ยได้ถึง 15% ซึ่งในอนาคตจะยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการผลิตและการขนส่งสู่ตลาดโลก
  2. โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี
  3. โครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็น จังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง
  4. โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ อาจได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ แม้โครงการแลนด์บริดจ์จะมีข้อดีมากมาย แต่โครงการนี้ก็ได้รับเสียงวิพากษ์ว่าอาจเป็นการเอาเงินจำนวนมหาศาลไปลงทุนแบบ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ เพราะนอกจากจะไม่สร้างผลดีทางเศรษฐกิจอย่างที่หวังแล้ว ยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความจำเป็นกับความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่

ข้อวิจารณ์หลักของโครงการแลนด์บริดจ์คือ ‘ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น’ จากการที่ผู้ขนส่งต้องขนสินค้าลงรถไฟจากเรือ และจากรถไฟขึ้นเรือ ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการยกตู้คอนเทนเนอร์ตู้ละหลายพันบาท นอกจากนี้ผู้ขนส่งยังต้องค่าขนส่งสินค้าทางรถไฟ และจ่ายค่าภาระท่าเรือ 2 แห่ง รวมแล้วทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นหลักหมื่นต่อตู้ ทำให้แม้แลนด์บริดจ์จะช่วยลดระยะเวลาและระยะทางในการขนส่งได้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้ขนส่งเลือกใช้เส้นทางช่องแคบมะละกาเช่นเดิม 

นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ยังเป็นโครงการใหญ่ที่จะต้องใช้พื้นที่จำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับพื้นที่และทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย เช่น ทรัพยากรชายฝั่ง ที่อาจถูกทำลายและปนเปื้อนสารพิษจากการก่อสร้างและใช้ท่าเรือน้ำลึกในบริเวณดังกล่าว 

สารพิษและมลพิษจะทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมง และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่นอกจากประชาชนในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกแล้ว ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เส้นทางแลนด์บริดจ์ตัดผ่านอาจต้องเดือดร้อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยอีก เพราะการก่อสร้างโครงการนี้ต้องมีการเวนคืนที่ดินจำนวนมาก

ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติโครงการดังกล่าวและเริ่มการก่อสร้างได้ รัฐบาลอาจต้องตอบคำถามเรื่องความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการแลนด์บริดจ์ ต่อประชาชนที่จะได้รับผลกระทบให้ได้ก่อน

มิเช่นนั้น โครงการนี้ก็จะเป็นโครงการใหญ่ที่เอื้อแต่ธุรกิจและทุนใหญ่เพียงเท่านั้น แต่เป็นการทำร้ายและทำลายความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างไม่มีวันหวนคืน

istock-1339057752

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT