ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงแนวทางนโยบายการเงิน ชี้ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะดอกเบี้ยที่สูงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบและเศรษฐกิจชะลอ อีกทั้งระดับหนี้ครัวเรือนไทยยังสูง ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะซ้ำเติมปัญหา คาดเดือนม.ค.- ก.พ.ยังคงเห็นอัตราเงินเฟ้อติดลบ แต่หลัง ก.พ. ระดับเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1-2% ตามกรอบ
ในวันนี้ (15 ม.ค.) นาย ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมด้วยนางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และนาย สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Policy Briefing เพื่อเปิดเผยแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติต่อสื่อมวลชน
ในงานดังกล่าว นาย ปิติ ได้เผยแนวทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธปท. โดยเฉพาะการขึ้นและคงดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติที่กำลังเป็นประเด็นพูดถึงในขณะนี้ จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความทักท้วงการทำงานของแบงก์ชาติว่าการที่แบงก์ชาติยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทั้งที่เงินเฟ้อติดลบแล้วนั้นอาจเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า การคงนโยบายดอกเบี้ยไว้สูงนั้น เป็นการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากเกินความจำเป็น เพราะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น ธุรกิจไม่กล้าลงทุน และทำให้ประชาชนต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น จนประสบปัญหาหนี้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง
จากกรณีดังกล่าว นายปิติ ได้ชี้แจงว่า เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาเติบโตต่ำกว่าคาดจริง แต่สาเหตุหลักไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ แต่เป็นปัญหาทางโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ทั้งงบประมาณภาครัฐที่ยังไม่ออกมา ไทยไม่มีสินค้าส่งออกซับซ้อนมูลค่าสูง เช่น สินค้าเทคโนโลยี ที่จะไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เช่น จีนที่เข้ามาตีตลาดมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ขาดเสน่ห์เพราะไม่มีการพัฒนาด้านโครงสร้าง
นอกจากนี้ ไทยยังต้องเจอปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งจากดีมานด์โดยรวมที่ลดลง และเศรษฐกิจจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ดีมานด์บางสินค้าของไทยลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนกลับมาไม่ตรงตามเป้า
ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบาย จึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ และการแก้ปัญหานี้ จึงไม่ใช่การลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่เป็นการออกนโยบายการเงินและการคลังอื่นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยให้เพิ่มมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งการออกและดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่ใช่ขอบเขตหน้าที่ของแบงก์ชาติเพียงอย่างเดียว
สำหรับสาเหตุที่ธปท. ยังไม่ลดดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อติดลบนั้น นายปิติเผยว่า การที่เงินเฟ้อติดลบ และราคาสินค้าบางชนิดลดลงนั้น ไม่ได้เกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่ปัญหาในการผลิตหรือซัพพลายคลี่คลายลง และมาตรการช่วยเหลือเพื่อตรึงราคาสินค้ารัฐฯ ซึ่งมีผลต่อสินค้าบางชนิดเท่านั้น เช่น อาหาร และเชื้อเพลิง ซึ่งดึงให้ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI ของประเทศลดลง
ดังนั้น ธปท. จึงมองว่า CPI ที่มีแนวโน้มลดลงไม่ได้สะท้อนว่าราคาสินค้าลดลงอย่างถ้วนหน้าในทุกประเภท และการที่อัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบในปัจจุบันจึงไม่ได้สะท้อนว่าผู้บริโภคในไทยมีกำลังซื้อต่ำลง ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
นอกจากนี้ ธปท. ยังมองอีกว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้คนก่อหนี้มากขึ้น
โดยในปัจจุบัน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีสินทรัพย์รองรับเช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ นั้นอยู่ในระดับต่ำคือเพียง 34% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญึ่ปุ่นที่มีถึง 62% และ เกาหลีใต้ที่มีถึง 56% และส่วนมากเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ
ดังนั้น หากธปท. ลดดอกเบี้ยจนต่ำ และปล่อยให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มขึ้น อัตราหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ นายปิติ ย้ำว่า กนง. ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจของไทยอย่างใกล้ชิดมาตลอด และพร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยจะไม่มองเพียงแต่การเคลื่อนไหวในปัจจุบัน แต่จะต้องมองไปข้างหน้าเพื่อวางแผน
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง กนง. จะมองข้อมูลให้รอบด้านก่อน และถ้าหากมองว่าต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม เป็นกลาง ไม่ทำให้การดำเนินธุรกิจและดำเนินชีวิตฝืดเคือง หรือว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงในระบบการเงินมากเกินควร
ที่ผ่านมา กนง. ก็ได้มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการชั่งน้ำหนักมาแล้ว และได้ดำเนินงานออกมาตรการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือความช่วยเหลือที่เหมาะสม
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ธปท. มองว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เงินเฟ้อจะยังคงติดลบ ก่อนจะขึ้นมาอยู่ในกรอบ 1-2% ตามเป้า และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ มีจุดตั้งต้นที่ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา และมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคหรือ macrostability ที่ดี เพราะฉะนั้นหากมีการปฏิรูปโครงสร้างด้วยนโยบายโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างมั่นคง และเติบโตยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้ในระยะยาว