การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นัดแรกของปี 2567 มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาดและส่งสัญญาณยังไม่ลดดอกเบี้ยเพราะเงินเฟ้อยังสูง
ธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟด คงดอกเบี้ย 5.25-5.50% ในการประชุมวันนี้ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 22 ปีเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
อย่างไรก็ดี เฟดส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่สู่ระดับ 2% โดยข้อมูลที่เฟดได้รับบ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง ขณะที่การจ้างงานปรับตัวขึ้นปานกลางนับตั้งแต่ต้นปี แต่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในปีที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานและเงินเฟ้อนั้น กำลังอยู่ในทิศทางที่มีความสมดุลมากขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และคณะกรรมการยังคงให้ความสนใจต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ส่วนในการพิจารณาเรื่องการปรับช่วงเป้าหมายของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น คณะกรรมการจะใช้ความระมัดระวังในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า รวมทั้งแนวโน้มของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และสมดุลของความเสี่ยง คณะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้เฟดยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้
ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ
สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, โธมัส ไอ บาร์กิน, ไมเคิล เอส บาร์, ราฟาเอล ดับเบิลยู บอสติก, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, แมรี ซี ดาลี, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, เอเดรียนา ดี คุกเลอร์, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์
วันที่ 30-31 ม.ค.
วันที่ 19-20 มี.ค.
วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.
วันที่ 11-12 มิ.ย.
วันที่ 30-31 ก.ค.
วันที่ 17-18 ก.ย.
วันที่ 6-7 พ.ย.
วันที่ 17-18 ธ.ค.