เกาหลีใต้อัตราเจริญพันธุ์ลดฮวบ เหลือเพียง 0.72 ต่อผู้หญิง 1 คน ทำลายสถิติเดิมของตัวเองในฐานะประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์เกิดต่ำที่สุดในโลกอีกครั้ง ซ้ำเติมปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ ค่านิยม ความรุนแรงทางเพศ และความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้เลือกไม่แต่งงาน
ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ต่างมีปัญหาอัตราการเกิดน้อย เกาหลีใต้ดูเหมือนจะเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านนี้มากที่สุด เพราะตั้งแต่ปี 1960 อัตราเจริญพันธุ์ หรือ จำนวนเด็กเกิดมีชีพทั้งหมดในแต่ละปีต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์ (ช่วงอายุ 15 - 49 ปี) จำนวน 1 คน ของเกาหลีใต้ลดลงอย่างรวดเร็ว และลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของธนาคารโลก ในปี 1960 เกาหลีใต้เคยมีอัตราเจริญพันธุ์สูงถึง 5.95 แต่เวลาผ่านไปเพียง 20 ปี ในปี 1980 จำนวนนั้นกลับลดลงมาเหลือเพียง 1.57 ลงมาต่ำกว่า 1 ครั้งแรกในปี 2018 ก่อนลงมาเป็น 0.72 ในปัจจุบัน โดยหากเกาหลีใต้ยังมีอัตราเจริญพันธุ์ลดลงเรื่อยๆ ในอีก 50 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรวัยทำงานในเกาหลีใต้จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง ขณะที่จำนวนผู้ชายที่เกณฑ์ทหารได้จะลดลง 58% ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับเกาหลีใต้ที่ทางเทคนิคยังอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนืออยู่
แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องออกมาประกาศให้ปัญหาอัตราเจริญพันธุ์และการเกิดน้อยเป็น ‘วิกฤตระดับชาติ’ และได้พยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงเงินงบประมาณไปรวมถึง 379.8 ล้านล้านวอน หรือราว 10 ล้านล้านบาท เพื่อออกมาตรการการเงินมามากมายเพื่อจูงใจให้คนมีลูก
จากการรายงานของ BBC มาตรการดังกล่าวมีทั้ง การให้เงินสนับสนุนเรื่องค่าที่พักและเดินทาง ยกเว้นค่ารักษาพยาบาล ให้สิทธิพิเศษด้านภาษี เปิดให้คนต่างชาติเข้าไปทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงการยกเว้นไม่ให้ผู้ชายเกณฑ์ทหารหากมีลูก 3 คนก่อนอายุ 30
สำหรับคนในบางประเทศ แรงจูงใจทางการเงินเหล่านี้อาจจะเพียงพอแล้วในการกระตุ้นให้อัตราเกิดสูงขึ้น ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่า ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐฯ แล้ว ทำไมคนเกาหลีใต้ โดยเฉพาะผู้หญิงเกาหลีใต้จึงเลือกที่จะไม่มีลูก ทั้งที่ถ้ามีลูกจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายไปได้ในหลายด้าน และสะท้อนว่าแท้จริงแล้วต้นตอของปัญหานี้อาจไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงานและมีลูกด้วย
ผู้หญิงการศึกษาสูง แต่ได้เงินน้อยกว่าผู้ชาย ต้องลาออกมาเลี้ยงลูก
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประชากรผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้มากเป็นอันดับต้นๆ ในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่เกาหลีใต้กลับมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างเพศ (gender pay gap) สูงมากที่สุดในหมู่ประเทศ OECD คือผู้ชายได้มีรายได้สูงกว่าผู้หญิง 34.6% ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.1% ทำให้เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 99 จาก 149 ในด้านความเท่าเทียมทางเพศจากการจัดอันดับปี 2022 ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้นี้ นอกจากจะมาจากความเชื่อที่ว่าผู้ชายมีความรู้ความสามารถ และความเป็นผู้นำมากกว่าซึ่งส่งผลต่อการเลื่อนตำแหน่งแล้ว ผู้หญิงยังต้องรับภาระลาออกจากงานดูแลลูกในช่วง 1-3 ปีแรกของการเกิด ทำให้นายจ้างไม่นิยมจ้างผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือกำลังจะแต่งงาน
ในเกาหลีใต้ ปัจจุบัน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในการขอลาไปเลี้ยงลูกได้คนละ 1 ปี ภายใน 8 ปีแรกหลังลูกเกิด แต่จากสถิติในปี 2022 มีผู้ชายที่มีลูกเพียง 7% เท่านั้นที่ขอลางานไปเลี้ยงลูก ขณะที่ผู้หญิงที่มีลูกถึง 70% ขอลาไปเลี้ยงลูกในช่วงเวลาเดียวกัน
แน่นอนว่า การตัดสินใจลาออกไปเลี้ยงลูกของผู้หญิงเกาหลีใต้บางส่วนอาจเกิดขึ้นจากความสมัครใจของตัวฝ่ายหญิงเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมด้านบทบาททางเพศดั้งเดิมและระบบชายเป็นใหญ่มีผลอย่างมากในการกดดันให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก และผู้หญิงบางส่วนก็ไม่เต็มใจจะทำเช่นนั้น เพราะเป็นการลดโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้ได้รายได้ต่ำกว่า รวมไปถึงทำให้ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายด้านการเงิน ซึ่งทำให้ผู้หญิงไม่มีอิสระ และไม่สามารถแยกตัวออกมาได้ง่ายหากเจอความรุนแรงในครอบครัว
นอกจากนี้ ถึงแม้ไม่มีลูก ผู้หญิงเกาหลีใต้ก็ยังต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบทำงานบ้าน และจัดการเรื่องในครอบครัว เพราะผู้ชายส่วนมากไม่ได้ถูกสอนให้รู้จักทำงานการบ้านด้วยตัวเอง ทำให้ผู้หญิงต้องมีภาระเพิ่มจากการทำงานตามปกติ ทำให้ผู้หญิงบางส่วนไม่อยากมีความสัมพันธ์หรือแต่งงาน และทำให้ไม่มีลูกตามไปด้วย โดยในเกาหลีใต้ มีการเกิดเพียง 2% เท่านั้น ที่เกิดจากผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
สังคมเครียด แข่งขันสูง ค่าเลี้ยงลูกแพงที่สุดในโลก
นอกจากความก้าวหน้าในการงานแล้ว สภาพแวดล้อมทางสังคมยังทำให้ประชากรเกาหลีใต้บางคนยังไม่อยากมีลูก เพราะมองว่าสังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมที่เครียด แข่งขันสูง ทำให้พ่อแม่ต้องมีเงินจำนวนมากในการสนับสนุนการศึกษาของลูก และแม้จะมีเงินส่งเรียนเต็มที่ก็ไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่าลูกจะประสบความสำเร็จ เพราะการแข่งขันสูงมาก
จากการศึกษาของ YuWa Population Research Institute สถาบันด้านประชากรศาสตร์ของจีน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรจากเกิดถึงอายุ 18 ปีที่สูงที่สุดในโลก โดยมากกว่า GDP ต่อหัวของประเทศถึง 7.79 เท่า สะท้อนปัญหาการเรียนพิเศษ และสะท้อนว่าประชากรส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้มีรายได้ไม่มากพอเลี้ยงเด็กให้โตขึ้นมาอย่างดีในประเทศได้
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Korea Institute for Health and Social Affairs (KIHASA) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ทั้งที่แต่งงานและยังไม่แต่งงาน ยังบอกอีกว่าความมั่นคงด้านการเงิน และภาระด้านการเงินจากการเลี้ยงลูกเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจไม่มีลูก
สภาพสังคมที่แข่งขันสูงจึงส่งผลถึงสองทางต่อการตัดสินใจมีลูกของประชากร เพราะนอกจากจะทำให้คนไม่อยากมีลูกให้ออกมาเจอชะตากรรมเดียวกับตนแล้ว ยังแข่งขันสูงจนคนมีรายได้ไม่พอเลี้ยงเด็กขึ้นมาอีกต่อหนึ่งด้วย
ความรุนแรงทำผู้หญิงยี้ผู้ชาย เกิดมูฟเม้น 4B ‘ไม่คบ ไม่แต่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีลูก’
นอกเหนือจากปัจจัยด้านอาชีพ และการเงิน อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเจอเช่นเดียวกับผู้หญิงในประเทศอื่นๆ ก็คือ การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ทั้งการทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งการศึกษาในปี 2016 ชี้ว่า ผู้หญิงถึง 41.5% ในประเทศเกาหลีใต้เคยเจอความรุนแรงจากคู่ครองของตัวเอง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 30% อยู่มาก
นอกจากนี้ ผู้หญิงเกาหลีใต้ยังเบื่อหน่ายกับการที่ถูกกดดันให้ต้องดูแลรูปร่างหน้าตาของตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ ซึ่งเป็นภาระทั้งทางด้านจิตใจ และด้านการเงิน ขณะที่ผู้ชายไม่ถูกกดดันให้ทำเช่นนั้น หรือถูกกดดันน้อยกว่า
ความไม่พอใจต่อความความรุนแรงและวิธีปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมของคนในสังคมนี้ ทำให้ผู้หญิงบางส่วนเข้าร่วมขบวนการเฟมินิสต์ ‘4Bs’ ซึ่งมาจากคำ 4 คำ คือ ‘비연애’ ไม่มีแฟน, ‘비혼’ ไม่แต่งงาน, ‘비섹스’ ไม่มีเซ็กส์ และ ‘비출산’ ไม่มีลูก ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปี 2019 ที่มีขบวนการ MeToo และหนังสือเฟมินิสต์ Kim Ji Young, Born 1987 กำลังได้รับความนิยม
โดยแม้จะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามีผู้หญิงเกาหลีใต้กี่คนที่สมาทานแนวคิดนี้ เพราะเป็นแนวคิดที่เป็นที่โด่งดังขึ้นมาในโลกโซเชียล ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่น้อยได้เริ่มทำตามข้อใดข้อหนึ่งในสี่ข้อนี้แล้ว คือหากแต่งงานก็เลือกที่จะไม่มีลูก หรือหากมีเซ็กส์ก็เลือกไม่มีความสัมพันธ์ยืนยาว หรือไม่แต่งงาน สะท้อนได้จากอัตราการเกิดที่ลดฮวบลงไป
ไทยเรียนรู้อะไรได้จากปัญหานี้?
ปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็กำลังเจอปัญหาอัตราเจริญพันธุ์และอัตราการเกิดที่ลดลงจนเสี่ยงมีปัญหาโครงสร้างประชากรเช่นกัน จนในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาเรียกร้องให้คนไทยมีลูกกันมากขึ้น เพื่อคงจำนวนประชากรวัยทำงานและเสียภาษีในอนาคต
เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไม่อยากมีลูกคือเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง รายได้ที่โตไม่ทันกับภาวะเงินเฟ้อ และระบบสวัสดิการและประกันสังคมที่ไม่เพียงพอและไม่น่าเชื่อถือ แต่แน่นอนว่าปัจจัยเรื่องเพศก็มีผลเช่นเดียวกัน เพราะประเทศไทยก็มีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ และปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะปัญหาทำร้ายร่างกาย และข่มขืน ซึ่งเป็นข่าวให้เห็นได้ทุกวัน
นอกจากนี้ กฎหมายที่ไม่เอื้อกับความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันในการมีลูกก็ทำให้คู่รักที่อยากมีลูกจำนวนมากไม่สามารถมีครอบครัวและมีลูกได้ตามต้องการ ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการสร้างประชากรทางนี้ไป
ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก รัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นให้มีการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสภาพสังคมที่ต้องเท่าเทียม และปลอดภัยสำหรับคนทั้งสองเพศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้หญิงอยากมีลูกมากขึ้น เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะเสียโอกาสในการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือเจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และจากคนใกล้ชิด
อ้างอิง: BBC, The Cut, BBC, The Korea Times