ข่าวดีรับสงกรานต์! หลังจาก คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเอกฉันท์ ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ถือเป็นของขวัญปีใหม่ไทยที่สร้างรอยยิ้มให้กับแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท รับสงกรานต์ปีนี้ นำร่อง 10 จ.ท่องเที่ยว
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมใหม่ สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น เงินวันละ 400 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป นำร่องใน 10 จังหวัด ดังนี้
10 จังหวัดที่ค่าแรงขึ้นค่าแรง 400 บาท
- กรุงเทพมหานคร (เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา)
- กระบี่ (เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง)
- ชลบุรี (เฉพาะเขตเมืองพัทยา)
- เชียงใหม่ (เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่)
- ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน)
- พังงา (เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก)
- ระยอง (เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ)
- สงขลา (เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่)
- สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย)
- ภูเก็ต ทั้งจังหวัด
ค่าแรงขั้นต่ำแรงงานทั่วประเทศ
- อัตรา 363 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- อัตรา 361 บาท 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี และระยอง
- อัตรา 352 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา
- อัตรา 351 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม
- อัตรา 350 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปราจีนบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และฉะเชิงเทรา
- อัตรา 349 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี
- อัตรา 348 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี หนองคาย นครนายก
- อัตรา 347 บาท 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ และตราด
- อัตรา 345 บาท 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว นครพนม บุรีรัมย์ พิษณุโลก จันทบุรี มุกดาหาร สกลนคร สุราษฎร์ธานี สงขลา อุบลราชธานี
- อัตรา 344 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร เพชรบุรี สุรินทร์
- อัตรา 343 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน ยโสธร นครสวรรค์
- อัตรา 342 บาท 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และ กาฬสินธุ์
- อัตรา 341 บาท 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชัยภูมิ ชัยนาท พัทลุง และอ่างทอง
- อัตรา 340 บาท 16 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ระนอง สตูล หนองบัวลำภู มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ราชบุรี เลย อุตรดิตถ์
- อัตรา 338 บาท 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง แพร่ น่าน พะเยา
- อัตรา 330 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย "ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท"
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้อธิบายถึงมติของคณะกรรมการค่าจ้างในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว ว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ธุรกิจการให้บริการที่พักแรมก็ขยายตัวสูง 10 พื้นที่/จังหวัดที่นำร่องล้วนมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง” นายไพโรจน์กล่าว
“การประชุมไตรภาคีครั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะนำร่องปรับขึ้นค่าแรงก่อน เพราะเราไม่สามารถมองค่าแรงแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป เราต้องพิจารณาตามประเภทกิจการและรายจังหวัด หลังจากนี้ ทางไตรภาคีจะพิจารณาอัตราค่าจ้างในประเภทกิจการอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและการจ้างงาน”
คณะกรรมการค่าจ้างฯ กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข
“คณะกรรมการค่าจ้างจะติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคตด้วยความรอบคอบ” นายไพโรจน์กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจะเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 เมษายนนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ มุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและแรงงานที่มีคุณภาพ นับเป็นข่าวดีรับสงกรานต์ที่สร้างความสุขให้กับแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
เอกชนมองภาคท่องเที่ยวไม่กระทบ เพราะจ่ายค่าแรงสูงอยู่แล้ว
ด้านคุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในบางพื้นที่ 10 จังหวัด ไม่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจมากนัก และคิดว่านายกจ้างจะรับได้ เนื่องจาก ตามปกติแล้วค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มงานบริการจ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วราว 15 -20% ส่วนในภารการท่องเที่ยวก็เป็นประเภทกิจการที่จ่ายค่าแรงสูงกว่าภาคบริการทั่วไป อย่างไรก็ตามมองว่าการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ค่าแรงขั้นต่ำสูงถึง 400 บาท
นอกจากนี้นายธนิต ยังเสนอให้รัฐบาล เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอยากให้นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทมีผลใช้ได้จริง เพื่อให้เพิ่มสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบเศรฐกิจมากกว่านี้ เพราะมองว่า ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้คือ ประชาชน รวมถึง ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง