ข่าวเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกหั่น GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.8% จาก 3.2% ส่งออกอ่อนแอ งบล่าช้า รัฐใช้จ่ายลด

1 เม.ย. 67
ธนาคารโลกหั่น GDP ไทยปี 67  เหลือ 2.8% จาก 3.2% ส่งออกอ่อนแอ งบล่าช้า รัฐใช้จ่ายลด

ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์การเติบโต GDP ไทยปี 2567 เหลือ 2.8% จาก 3.2% และปี 2568 เหลือ 3% จาก 3.1% จากการส่งออกที่อ่อนแอ และการทำงบประมาณที่ล่าช้า

การปรับการคาดการณ์ลงนี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดการคาดการณ์สำหรับปี 2567 ลงเหลือ 2.5-3% จาก 3.2% ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 และหดตัว 0.6% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566

ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย ให้เหตุผลที่ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยว่า เป็นผลมาจากการส่งออกที่อ่อนแอ และการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้า ส่งผลให้มีการใช้จ่ายภาครัฐลดลงและล่าช้าไม่ทันการณ์

สำหรับปี 2567 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 90% ของระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 1-2%

ทั้งนี้ การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประกาศในวันนี้ยังไม่รวมการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินคนละ 10,000 บาท โดยธนาคารโลกมองว่าหากรัฐบาลใช้มาตรการนี้จริงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 1% แต่ก็ต้องแลกมากับหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นอีก 2% เพราะจะต้องมีการกู้ยืมเงินมาเพิ่ม

 

ธนาคารโลกแนะ 5 แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 ธนาคารโลกได้เปิดเผย รายงานการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ฉบับปี 2567 (Systemic Country Diagnostic Update: SCD Update) สำหรับประเทศไทย ชื่อว่า “การยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ: ก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองของคนทุกกลุ่ม” (Shifting Gears: Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity) 

ในรายงานระบุบทวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาประเทศทั้งในเศรษฐกิจและสังคมแบบรอบด้าน เพื่อเร่งลดปัญหาความยากจนและกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุง 5 ประเด็นสำคัญ คือ

  • การเสริมสร้างความมั่นคงด้านทุนมนุษย์

ธนาคารโลกระบุไว้ในรายงานว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านคุณภาพประชากร ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพและงบประมาณโดยรวมที่ไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มยากจน ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ตลาดแรงงาน ระบบสาธารณสุข และโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียม และทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์ที่มีได้อย่างเต็มที่ 

ปัญหาคุณภาพประชากรซ้ำเติมปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทยที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น จากแนวโน้มการเกิดที่ลดลง ทำให้รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงระบบการศึกษาและเพิ่มการลงทุนในสวัสดิการสังคมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และเอื้อให้ประชาชนพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างเท่าเทียม 

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งผลิตแรงงานที่ตรงความต้องการของตลาด มีทักษะในด้านเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และทำให้ประชาชนจากทุกระดับสังคม และทุกเพศ เข้าถึงตลาดแรงงานได้อย่างเท่าเทียม รวมไปถึงปฏิวัติระบบบำนาญผู้สูงอายุ และประกันสังคมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

  • การสร้างสรรค์เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน

ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะอุตสาหกรรมในประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำ รวมไปถึงมีนโยบายการค้าที่เข้มงวดในภาคบริการ ทำให้ไม่เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจไม่กี่ราย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่จะทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมไปถึงการกระจายของเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ และทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ลำบากมากยิ่งขึ้น ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้ครัวเรือน

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโนโลยี กำหนดกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจทุกระดับในประเทศอย่างเท่าเทียม ออกนโยบายที่ดึงดูดแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ เพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเสริมกำลังให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการให้การศึกษาด้านการเงินแก่ประชาชน และยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค

  • การปลดล็อกการเติบโตในเมืองรอง

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทยและดึงดูดงบประมาณในการพัฒนาไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างด้านการพัฒนาอย่างใหญ่หลวงระหว่างเมืองหลวงและเมืองรองของไทยที่ไม่ได้รับเงินทุนมากพอในการพัฒนา

ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้เมืองรองของไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขัดขวางไม่ให้ไทยมีระบบขนส่งระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการสื่อสารก็พัฒนาอย่างจำกัด ทำให้ไม่มีการเก็บและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเต็มที่

ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม แบ่งเงินทุนไปพัฒนาเมืองรองอย่างทั่วถึง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ คาร์บอนต่ำ และดีต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรและสินค้าจากทั่วประเทศเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปได้เต็มที่ ยั่งยืน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง 

  • การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสภาวะสภาพอากาศแปรปรวน เพราะประเทศไทยมีชายฝั่งที่ยาวทั้งสองด้าน ระบบเกษตรกรรมที่เปราะบางไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และความพร้อมในการรับมือและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต่ำ ซ้ำเติมโดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีความรับผิดชอบ และการที่อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่มีระบบในการจัดการกับของเสีย และมลพิษทั้งทางอากาศและน้ำที่มีประสิทธิภาพ 

ความพร้อมที่ต่ำนี้ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจากสภาวะอากาศแปรปรวนในระยะยาว ทั้งความไม่มั่นคงทางอาหาร และการสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยพิบัติ ซึ่งจะบ่อนทำลายทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันและเตรียทความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวสีเขียวที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาการจัดการแหล่งน้ำให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้งานในทุกฤดูกาล และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วน ทั้งการขนส่งและการผลิต

  • การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันการเงินและการคลังของรัฐ

ธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลและสถาบันการเงินของไทยต้องมีการปฏิบัติการทำงานให้มีความโปร่งใสมากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้มีการทำงานอย่างรับผิดชอบ แก้ไขการกำกับดูแลด้านการเงินและปัญหาคอขวดที่ขวางการลงทุนสาธารณะ ที่จะทำให้ไทยสามารถแก้ไขปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้ ทั้งปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากภาวะประชากรสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นอกจากนี้ ไทยยังต้องส่งเสริมให้มีระบบข้าราชการรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบ โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะมีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศโดยรวม รวมไปถึงส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยการปกครองกลางและท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้การบริการจัดการส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ และมีการจัดสรรงบประมาณที่ทั่วถึงและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงและเมืองรอง




 



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT