สภาพอากาศที่ร้อนจัด และใช้เครื่องปรับอากาศแทบทุกวันทำให้หลายคนอาจจะเป็นห่วงเพราะค่าไฟที่ต้องจ่ายในเดือนนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนจากปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาดูอัตราค่าไฟฟ้าในบ้านเรา พบว่าอัตราค่าไฟต่อหน่วยมีการปรับตัวสูงขึ้นก็จริงแต่ภาครัฐฯพยายามออกมาตรการมาดูแลเป็นระยะ เช่น การพยายามตรึงอัตราค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ) คล้ายกับการพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
จนในที่สุด กรณีของนำ้มันดีเซล ต้องยอมให้ปรับขึ้นทะลุ 30 บาทก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา เนื่องจากกองทุนน้ำมันแบกรับภาระไม่ไหว ติดลบไปแล้วถึง1แสนล้านบาท นอกจากกระทบประชาชนที่ใช้น้ำมันดีเซลแล้ว ยังกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งของภาคธุรกิจด้วย โดยเฉพาะรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่จำนวนมากยังคงใช้ดีเซล
เอกชนมองต้นทุนค่าไฟของอุตสาหกรรมไทยสู้เพื่อนไม่ได้
SPOTLIGHT พูดคุยกับคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงปัญหาและความท้าทายของภาคธุรกิจหนึ่งในนั้นคือเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
โดยหากเทียบกับชาติอาเซียนแล้วพบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สูงเป็นอันดับที่ 5 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อ ซึ่งเป็นค่าไฟงวดปัจจุบัน และ งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.67 ที่รัฐฯได้ตรึงอัตราเดิมเอาไว้ ขณะที่ค่าไฟของ เมียนมา ถูกกว่าไทยอยู่ที่อัตรา 2.87 บาท เช่นเดียวกับค่าไฟของเวียดนาม อยู่ที่อัตรา 2.69 บาท อินโดนีเซีย อยู่ที่ 2.59 และลาวมีค่าไฟอยู่ที่ 1.03 บาท ทั้งนี้มีสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีค่าไฟแพงสุดในอาเซียน คือ 12.30 ตามด้วยกัมพูชา 5.53 บาท ฟิลิปปินส์ 5.11 บาท มาเลเซีย 4.45 บาท
สภาอุตสาหกรรมไทย มองว่า อัตราค่าไฟดังกล่าวทำให้ยังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม หรือ อินโดนีเซีย ได้เพราะต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ เช่น เหล็ก เคมี แก้ว เยื่อกระดาษ และปูนซิเมนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ภาคเอกชนกังวลว่า นอกเหนือจากค่าไฟแพงจะกระทบต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและ
ค่าครองชีพของประชาชนแล้วยังกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ดังนั้นค่าไฟที่เหมาะสมของไทยควรอยู่ที่ระดับ 2.70-3.30 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ในระยะยาว
อุดหนุนพลังงานทำกองทุนน้ำมันและ กฟผ. ทะลุ ติดลบแสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้หยิบยกประเด็นการอุดหนุนด้านพลังงานของประเทศไทย ว่า หากรัฐยังมีการอุดหนุนต่อไปอาจสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ปัจจุบันในปี 2567 แม้ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะเร่งตัวขึ้นในบางจังหวะ แต่ก็ผ่อนคลายลงจากจุดสูงสุดในปี 2565 ภาครัฐจึงทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลงจากปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และงวดเดือนต่อไป (เดือนพ.ค.-ส.ค.67) ก็มีแนวโน้มจะถูกตรึงไว้ในระดับเดิม
เช่นเดียวกับราคาก๊าซหุงต้มก็ยังตรึงอยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ไปจนถึงเดือนมิ.ย.67 ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 50 สตางค์/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.67 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขณะนี้อยู่ที่ 30.44 บาท/ลิตร
ซึ่งผลจากการอุดหนุนราคาพลังงานอย่างต่อเนื่องทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนฯ) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีภาระต้นทุนพลังงานและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากภาครัฐไม่มีการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศจากระดับปัจจุบัน อาจส่งผลให้ภาระต้นทุนของกองทุนฯ และ กฟผ. มีแนวโน้มกลับไปแตะที่ระดับสูงสุดเหมือนในปี 2565 อีกครั้ง
- หากราคาดีเซลและก๊าซ LPG ยังคงได้รับการอุดหนุนเท่ากับในระดับปัจจุบัน ก็มีความเป็นไปได้ที่ภายในไตรมาส 2/2567 กองทุนฯ อาจต้องเผชิญกับสถานะติดลบสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงปี 2565 ที่สูงสุดในประวัติการณ์ (ภายใต้สมมติฐานว่าราคาพลังงานโลกไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน)
- ในขณะที่ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) หากมีการอุดหนุนในระดับใกล้เคียงกับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 ก็มีความเป็นไปได้ที่ภายในสิ้นปี 2567 ภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จะเพิ่มขึ้นกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงปี 2565 ที่มีภาระต้นทุนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทอีกครั้ง
ในขณะที่ภาระต้นทุนการดำเนินการจากการอุดหนุนพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง ประกอบกับหากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจจะเป็นจังหวะเวลาที่ภาครัฐจะทบทวนทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลง โดยอาจพิจารณาสนับสนุนเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่ามีความจำเป็น อาทิ กลุ่มเปราะบาง เพื่อที่ภาครัฐจะได้ฟื้นฟูฐานะทางการเงินสำหรับใช้รับมือในกรณีที่หากเกิดวิกฤตในอนาคต (buffer)
ขณะเดียวกันภาครัฐอาจมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนของภาคเอกชนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนพลังงานได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันจากแนวทางที่ภาครัฐทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศลงและปล่อยให้ราคาค่อยๆสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจึงส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.67 เป็นต้นไป หลังจากเผชิญการติดลบมานาน 6 เดือน ทั้งนี้ ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยคาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.8%