ข่าวเศรษฐกิจ

ส่องอนาคต ‘อิหร่าน’ หลังปธน. เสียชีวิต ใครมีสิทธิ์ขึ้นตำแหน่งต่อ? มีความท้าทายอย่างไรบ้าง?

20 พ.ค. 67
ส่องอนาคต ‘อิหร่าน’ หลังปธน. เสียชีวิต ใครมีสิทธิ์ขึ้นตำแหน่งต่อ? มีความท้าทายอย่างไรบ้าง?

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ‘อิบราฮิม ไรซี’ (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีของอิหร่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน และ ผู้ติดตามรวม 9 คน ได้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เขย่าเสถียรภาพทางการเมืองของอิหร่านและตะวันออกกลาง เพราะไรซีเป็นผู้ที่ทุกคนคาดการณ์ว่าจะได้เป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านคนต่อไป

ดังนั้น การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของไรซีจึงทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมามากมายว่า เศรษฐกิจการเมืองของอิหร่านจะเป็นอย่างไรต่อไป? และใครจะได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านคนต่อไป? โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจอิหร่านยังคงเปราะบางจากการคว่ำบาตร และความขัดแย้งกับอิสราเอลที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปส่องอนาคตเศรษฐกิจการเมืองของอิหร่านกันว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด? และมีความท้าทายอะไรรอผู้นำคนใหม่ของอิหร่านอยู่บ้าง?
afp__20240519__34t97ph__v4__h

สรุปเหตุการณ์ เกิดอะไรต่อหลังปธน. อิหร่านเสียชีวิตในหน้าที่?

ในวันที่ 19 พฤษภาคม มีรายงานว่า อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีของอิหร่านประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในภูเขา พร้อมกับ ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน (Hossein Amir-Abdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน และผู้ติดตาม ในระหว่างกลับจากทำธุระเปิดเขื่อนในชายแดนอาเซอร์ไบจาน

หลังจากมีการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว ทีมช่วยเหลือก็ได้พยายามเข้าไปในพื้นที่ เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่า ไม่เจอสัญญาณผู้รอดชีวิต ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของอิหร่านจะรายงานว่าประธานาธิบดี และผู้ติดตามได้เสียชีวิตทั้งหมดจากอุบัติเหตุดังกล่าว

การเสียชีวิตของไรซี ทำให้ ‘โมฮัมหมัด มอคเบอร์’ (Mohammad Mokhber) รองประธานาธิบดีของอิหร่าน ต้องขึ้นทำหน้าที่แทนไรซีทันทีตามรัฐธรรมนูญของอิหร่าน ก่อนที่รองประธานาธิบดี ประธานรัฐสภา และหัวหนาฝ่ายตุลาการจะต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ขึ้นมาภายในระยะเวลา 50 วัน

ปัจจุบัน มอคเบอร์อายุ 68 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ใกล้ชิดกับ ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ (Ayatollah Khamenei) ผู้นำสูงสุดอิหร่านอายุ 85 ปี โดยเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps) ซึ่งเป็นกองกำลังทหารของผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ที่ก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 เพื่อคานอำนาจกับกองกำลังทหารอื่น ๆ ในอิหร่าน

ใครจะได้เป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านต่อจากคาเมเนอี?

ทั้งนี้ แม้มอคเบอร์จะเป็นถึงคนสนิทของคาเมเนอีและรองประธานาธิบดีของอิหร่าน เขาก็ไม่ใช่คนที่จะได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนต่อไปของอิหร่านเมื่อคาเมเนอีเสียชีวิต เพราะที่ผ่านมามี 2 คนเท่านั้นที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้นำสูงสุดคนต่อไป คือ อิบราฮิม ไรซี อดีตประธานาธิบดีที่เพิ่งเสียชีวิต และ ‘โมจทาบา คาเมเนอี’ (Mojtaba Khamenei) ลูกชายคนที่ 2 ของ อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี 

ปัจจุบัน โมจทาบา คาเมเนอี อายุ 54 ปี เป็นผู้นำศาสนาและครูสอนศาสนาคนสำคัญที่เมืองกุม (Qom) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สงวนไว้เพื่อครูสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดเท่านั้น นอกจากนี้ เขายังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ IRGC โดยเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในกองทัพในช่วงท้ายของสงครามอิรัก-อิหร่าน และมีคอนเนคชั่นในหมู่ผู้สอนศาสนาระดับสูงของประเทศ

แม้จะเหมือนไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากนัก สาเหตุที่ทำให้โมจทาบามีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดได้มาก ก็คือ ความรู้และอิทธิพลด้านศาสนา เพราะหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านในปี 1979 เพื่อเปลี่ยนระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ อิหร่านก็มีการผสมระบอบเทวาธิปไตยของศาสนาอิสลามเข้ากับประชาธิปไตย โดยมีเครือข่ายสถาบันที่ผู้นำสูงสุดเป็นผู้ควบคุม ควบคู่ไปกับประธานาธิบดีและระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

afp__20200322__1q326g__v1__hi

ภายใต้ระบบนี้ ผู้นำสูงสุดจะมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าคณะตุลาการ และสมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ซึ่งมีสิทธิคัดเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้ในอิหร่านกฎศาสนากลายเป็นกฎหมายของประเทศ และผู้นำทางศาสนาจะเป็นผู้มีอำนาจการเมืองสูงสุด ไม่ใช่ประธานาธิบดีที่ทางปฏิบัติแล้วเหมือนเป็นหุ่นเชิด และผู้รับแรงเสียดทานทางการเมืองแทนผู้นำสูงสุดมากกว่า

ทั้งนี้ แม้จะสิ้นคู่แข่งคนสำคัญอย่างไรซีไปแล้ว โมจทาบาก็ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ การที่เขาเป็นลูกชายของผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน ทำให้หากเขาได้เป็นผู้นำสูงสุดคนต่อไป การสืบทอดตำแหน่งของเขาจะเหมือนเป็นการสืบทอดทางสายเลือด ซึ่งขัดกับหลักการของคณะปฏิวัติที่ไม่ต้องการให้มีการสืบอำนาจในครอบครัวเดียวเหมือนระบอบกษัตริย์ 

เงื่อนไขนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า เขาจะหาความชอบธรรมในการขึ้นครองตำแหน่งอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงแรงเสียดทานจากทั้งชนชั้นนำ และประชาชนทั่วไป หรือจะมีแคนดิเดตอื่นเข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มหรือไม่

ความท้าทายของเศรษฐกิจอิหร่าน ท่ามกลางความขัดแย้ง

นอกจากปัญหาในการสืบทอดตัวผู้นำแล้ว การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของไรซียังสร้างความท้าทายในการดำเนินความสัมพันธ์ต่างประเทศของอิหร่าน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ปัจจุบันเปราะบางอยู่แล้ว จากการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับสหรัฐฯ และอิสราเอล

ในช่วงที่ไรซีดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี เศรษฐกิจของอิหร่านฟื้นตัวได้พอสมควรจากการระบาดของโควิด-19 โดยพบ GDP เติบโตถึงเกือบ 5% ในปี 2023 เพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้ อิหร่านได้เพิ่มการผลิตและส่งออกน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยผลิตได้ถึงวันละ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศโอเปก และส่วนมากส่งออกให้กับผู้ซื้อในประเทศจีน  

ทั้งนี้ จากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ และอิสราเอล รวมถึงเศรษฐกิจในจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผู้นำคนใหม่จะไม่สามารถหวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการส่งออกน้ำมันได้อีกต่อไป ทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านถือว่ามีความอ่อนแอ ไม่มีอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างหลากหลายขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึงระดับ 35% ในปีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในระดับเงินเฟ้อที่สูงมากที่สุดในโลก

สภาวะเช่นนี้ทำให้คนอิหร่านจำนวนมากเสี่ยงมีรายได้ไม่พอดำรงชีวิต และยากจนลง โดยธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจของอิหร่านเกิดวิกฤตขึ้นมา ประชาชนถึง 40% ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องประสบกับภาวะยากจน เพราะมีรายได้ไม่พอใช้ หรือเสียหนทางในการประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีรักษาการณ์ของอิหร่าน และประธานาธิบดีคนต่อไป อิหร่านไม่น่าจะมีจุดยืนที่แตกต่างไปนักในกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพราะอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของกลุ่มติดอาวุธต่อต้านอิสราเอลหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มฮามาส

ดังนั้น หลายๆ คนจึงจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเพิ่งเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นในปี 2023 หลังมีความขัดแย้งกันยาวมาถึง 7 ปี โดยมีจีนเป็นตัวกลางประสานความสัมพันธ์ หลังซาอุดีอาระเบียมีการสานความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลอำนาจการเมืองและการทูตกับสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากมีความสัมพันธ์ที่ดีอิหร่านก็จะมีเพื่อนบ้านและพันธมิตรในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ





 

อ้างอิง: Bloomberg, Al Jazeera, Reuters, The Guardian

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT