จีน เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอย่างมากเพราะถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 12 ปี มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนสูงถึง 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือคิด 18% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย
ปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA และโดยเฉพาะ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค นับเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565 โดยมีไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง
ล่าสุดภาครัฐและเอกชนของไทยเปิดกาประชุมเพื่อเชิญชวนนักธุรกิจจีนเข้าร่วมลงทุนในไทยและขยายการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยหวังใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม RCEP Business Opportunities Matchmaking (จีน-ไทย) หวังดึงนักธุรกิจจีนกว่า 140 ราย ใน 10 สาขา จาก 60 สมาคม มาลงทุนในไทย
นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2568 ไทยกับจีนจะครบรอบ50 ปี หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน คาดหวังว่าไทย-จีน จะขยายโอกาสทางการค้าทั้งสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความตกลง RCEP อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ขยายเครือข่ายภาคการผลิต และกระจายสินค้าในภูมิภาค เชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกผ่านการใช้สิทธิพิเศษผ่านข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะการตั้งฐานการผลิตในไทยในสาขาอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-Curve ที่เป็นเป้าหมายในการต่อยอดอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต และจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะ SME
ทั้งนี้ไทยสามารถเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียกลาง กระจายสินค้าได้ทั่วโลก มีความพร้อมทั้งโลจิสติกส์ แรงงาน บริการ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุน ท่านนายกฯสั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนแก้ไขปรับกฎระเบียบส่งเสริมเอกชน และทุกหน่วยงานพร้อมเอื้อการลงทุนให้สะดวกและได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI EEC และฟรีวีซ่า และด้านอื่นๆอีกมากมาย ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน
เอกชนไทยมั่นใจ จีนลงทุนเพิ่มหนุนเศรษฐกิจไทย
สำหรับบรรยากาศการประชุมมีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย Mr.Xu Ningning, Chairman of RCEP Industry Cooperation Committee (RICC) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายสนั่น อังอุบลกุลประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนของไทยกว่า 300 คนร่วมด้วย
ทั้งนี้มูลค่าการค้ารวมของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP ในปี 2023 อยู่ที่3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 54.41 % ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่ากว่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA แล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศซึ่งรวมความตกลง RCEP โดยอยู่ระหว่างการพิจารณากระบวนการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งขณะนี้มีประเทศ/เขตศุลกากรอิสระ แสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงฯ ได้แก่ ฮ่องกงและศรีลังกา และอยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงานความตกลง RCEP(RCEP Supporting Unit: RSU)
นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ระบุว่า ไทยโชคดีที่ได้จีนเป็นคู่ค้า ทำให้การส่งออกสามารถเติบโตได้ และใน 4 เดือนแรก ไทยส่งออก 9.7หมื่นล้านดอลลาร์ ยังขาดดุลกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะกับจีน ส่วนใหญ่เป็นขาดดุลสินค้าทุน เพื่อนำไปผลิตสินค้าต่อ อีกทั้งข้อดียังช่วยสินค้าเกษตรราคาดี ข้าวทุเรียน โดยการจัดงานครั้งนี้จะช่วยแสดงจุดแข็งของไทยที่มีมากมาย ที่ช่วยดึงดูดการค้าได้ แต่การลงทุนของจีนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยใกล้ชิด และตนขอสนับสนุนการค้ากับจีน ตลอดจนขอต่อต้านการที่ไต้หวันขอแยกตัวออกจากจีน
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยฯ พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคธุรกิจไทย-จีน ทั้งหอการค้าไทย หอการค้าไทย-จีน ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะบทบาทศักยภาพทางด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไป
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลาง มีข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีความเข้มแข็ง มีสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีจุดแข็งต่างๆ เช่น มีพลังงานสะอาดให้กับนักลงทุน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญไทยพร้อมให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก การลงทุนจากนักลงทุนจีนอย่างต่อเนื่อง
“จีน ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ปีก่อนมีการลงทุนมากที่สุด มีมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว คิดเป็น 24% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ เงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และวัตถุดิบสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าแทบทุกยี่ห้อ ของจีน ซึ่งไทยพร้อมรับการลงทุนจากไทยอย่างเนื่อง เชื่อว่า จากเวทีการประชุมครั้งนี้ จะได้เห็นการลงทุนต่อไป