มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไม่ใช่มาตรการใหม่ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมามีทั้ง เราเที่ยวด้วยกัน ไทยเที่ยวไทย เพราะแม้ว่าโควิด19 จะคลี่คลายลงแล้วแต่การท่องเที่ยวของไทยก็ยังไม่เหมือนเดิม ดังนั้นรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จึงนำมาตรการทางภาษีมาจูงใจให้คนไทยท่องเที่ยวกันมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เมืองรอง โดย ครม.ได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ สำหรับนิติบุคคลและเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับบุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season นั่นคือ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ
โดยมีการกำหนดพื้นที่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตการ คือ พื้นที่เมืองรอง 55 จังหวัด และบางอำเภอ ของจังหวัดท่องเที่ยวหลัก สำหรับใครที่กำลังมีแผนเดินทางหรือจัดกิจกรรมในองค์กร SPOTLIGHT สรุปรายละเอียดของมาตรการ ดังนี้
1.1 หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
1.2 หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)
1.3 ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด เนื่องจากการจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อเนื่องกัน และให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตาม 1) หรือ 2) แล้วแต่กรณี
จังหวัดท่องเที่ยวรองโดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัดและพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า)
จังหวัดท่องเที่ยวรอง 55 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดอุบลราชธานี
บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น
อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา และอำเภอลำทับ ในจังหวัดกระบี่
อำเภอบ้านบึง อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง และอำเภอหนองใหญ่ ในจังหวัดชลบุรี
อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร
(หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า)
สำหรับบุคคลธรรมดาที่อยู่ในระบบภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
ทั้งนี้การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศสำหรับ นิติบุคคลจะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 2,000 ราย ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท
ส่วนการดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับบุคคลธรรมดาจะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 581.25 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 250,000 ราย
อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดี ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า เม็ดเงินรายได้ที่จะกลับมาจะมากกว่า 1,500 ล้านบาท
เหตุผลที่กระทรวงการคลัง มองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกนโยบายมากระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ในปี 2566 มีจำนวนประมาณ 28 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19) มีจำนวนประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายปัจจัย เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจจีนชะลอลง ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย