Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
10 ปีแล้วทำไมหุ้นไทยยังไม่ทะลุ 2,000 จุด เปิดปัจจัยทำนักลงทุนเทขาย ตลาดหุ้นไทยไม่ดึงดูด
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

10 ปีแล้วทำไมหุ้นไทยยังไม่ทะลุ 2,000 จุด เปิดปัจจัยทำนักลงทุนเทขาย ตลาดหุ้นไทยไม่ดึงดูด

18 มิ.ย. 67
17:09 น.
|
1.4K
แชร์

ตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ เรียกว่าอยู่ในบรรยากาศสิ้นหวังอึมครึม หลังจากดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงแล้ว 136.79 จุด หรือ 9.5% จาก 1433.38 จุดในวันที่ 2 มกราคม 2024 มาอยู่ที่ 1296.59 จุด ในวันที่ 17 มิถุนายน 2024 จากแรงกดดันหลายด้านทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามคาด คดีฉ้อโกงที่ทำลายความเชื่อมั่นของของนักลงทุน และปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีแต่อุตสาหกรรมเก่า

ล่าสุด ปัจจัยที่กดดันหุ้นไทยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นปัจจัยทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กกต. ยื่นยุบพรรคก้าวไกล คดีสว. 40 คนยื่นวินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรีหลังดำรงมาแหน่งมายังไม่ถึง 1 ปี กรณีกฎหมายเลือกสว. 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญ และกรณียื่นประกันนายทักษิณ ชินวัตร ในคดี 112

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดหุ้นที่มีมูลค่าลดลงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ดัชนีหุ้นของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันเพิ่มขึ้นสวนทางเรา ไม่ว่าจะเป็นดัชนี Straits Times Index ของสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้น 2.27%, Ho Chi Minh Stock Index ของเวียดนาม ที่เพิ่มขึ้น 13.5% และ FTSE Bursa Malaysia EMAS Index ของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น 14.6%

นับว่าเป็นภาพที่น่าใจหาย โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2018 แล้วพบว่าตลาดหุ้นไทยเคยคึกคักจนนักลงทุนออกมาคาดการณ์ว่าดัชนี SET Index จะขึ้นไปถึง 2,000 จุด 

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยดูสถิติตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กันว่าตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้เป็นอย่างไร และมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังทรงๆ ทรุดๆ และยังวิ่งไปไม่ถึง 2,000 จุดอย่างที่หวัง

 

10 ปีแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังไม่ทะลุ 2,000 จุดอย่างที่หวัง

หากย้อนดู ดัชนี SET Index และข้อมูลการซื้อขายในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2014 ถึง ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นไทย มีการขึ้นลงมาตลอดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองทั้งภายในและภายนอก และมีมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดรวม หรือ Market Cap ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการ IPO และจำนวนบัญชีซื้อขายที่เพิ่มขึ้นจาก 1,098,731 บัญชีในช่วงปลายปี 2014 มาเป็น 5,922,252 บัญชีในเดือนเมษายนปี 2024 สะท้อนว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจซื้อขายหุ้นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

หากมองในระยะ 10 ปี หุ้นไทยทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วงต้นปี 2018 ในวันที่ 24 มกราคมที่ ดัชนี SET Index ขึ้นไปสูงที่สุดที่ 1,838.96 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตได้ดี คาดการณ์ GDP ไตรมาส 4 ของปี 2017 ฟื้นตัวแข็งแกร่งจากตัวเลขส่งออกที่ในเดือนกันยายนปี 2017 เพิ่มขึ้นถึง 13.2% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 55 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางการเมืองหลังนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแผนเลือกตั้งในเดือนตุลาคมปี 2017 และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2018 ในเดือนธันวาคมปี 2017

ในทางกลับกัน หุ้นไทยทำผลงานได้แย่ที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 โดยตกลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดใน 10 ปี ที่ 1,024.46 จุด ในวันที่ 23 มีนาคม หลังจากกระทรวงสาธารณสุขไทยยกระดับโควิด-19 เป็นโรคติตต่ออันตราย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งจะส่งผลมากต่อเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยว จนต้องมีการใช้มาตรการ circuit breaker ถึง 3 ครั้ง และออกมาตรการปรับเกณฑ์ short sell และลดช่วง ceiling/ floor เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ แม้หลังจากช่วงปี 2020 ตลาดหุ้นไทยจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เรื่อยๆ จนแตะระดับ 1,700 จุดได้อีกครั้ง ในปี 2022 หลังจากปี 2020 หุ้นไทยก็ไม่เคยขึ้นไปแตะระดับ 1,800 ได้อีกเลย แม้อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่ของไทยอย่างภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว มิหนำซ้ำยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2023 มาถึงปัจจุบันในช่วงกลางปี 2024

โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีหุ้นไทยลดลงจาก 1,685.75 จุดในวันที่ 2 มกราคมปี 2023 มาอยู่ที่เพียง 1,296.59 จุดในวันที่ 17 มิถุนายน ขณะที่ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายรายเดือนลดลงต่อเนื่องจาก 3.48 แสนล้านหุ้น และ 1.43 ล้านล้านบาทในเดือนมกราคมปี 2023 มาอยู่ที่ 2.71 แสนล้านหุ้น และ 8.73 แสนล้านบาทในเดือนพฤษภาคมปี 2024

ข้อมูลนี้สะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนก็ยังไม่กลับมา และชี้ว่าในปัจจุบันอาจมีปัจจัยอื่นที่กดดันตลาดหุ้นไทยอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจในภาคส่วนเดิมๆ อาจไม่สามารถกู้ความเชื่อมั่น และดึงดูดให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในหุ้นไทยได้อีกแล้ว

artboard1_8

 

ทำไมหุ้นไทยยังตกต่ำแม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้น?

ปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยตกต่ำอยู่ในปัจจุบันมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ แต่หากดูจากการที่ตลาดหุ้นอื่นยังสามารถเติบโตได้สวนทางกับตลาดหุ้นไทย ปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติมากที่สุด ซึ่งก็มีทั้ง 1) โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังมีแต่อุตสาหกรรมเก่าๆ ไม่ดึงดูด และ 2) สถานการณ์ทางเมืองที่วุ่นวาย ไม่มีเสถียรภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยไม่มีทิศทางที่แน่นอน

  • โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังมีแต่อุตสาหกรรมเก่าๆ ไม่ดึงดูด

หากดูจากโครงสร้างของธุรกิจในไทยและหลักทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ จะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยมีปัญหาระดับโครงสร้าง เพราะบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในไทยมีแต่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเก่า เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการเงิน และการบริการ ซึ่งอาศัยทำรายได้และกำไรกับผู้บริโภคภายในประเทศหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ และถึงแม้ส่งออกได้ก็มีมูลค่าต่ำ ขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ถือเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูงยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

โดยหากอิงจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงเดือนมกราคมปี 2021 - พฤษภาคมปี 2024 อุตสาหกรรมที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดคือ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่มีปริมาณการซื้อขาย 1.25 พันล้านหุ้น หรือ 7.21% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคการบริการ ที่มีปริมาณการซื้อขาย 1 พันล้านหุ้น หรือ 6.01% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีปริมาณการซื้อขายเพียง 478 ล้านหุ้น หรือ 2.75% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ หากดูที่การเติบโต ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นมูลค่าหดตัวทั้งหมด มีเพียงอุตสาหกรรมที่เติบโตคือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่เติบโตขึ้น 25.87% ในช่วงดังกล่าว สะท้อนว่า เช่นเดียวกับในตลาดหุ้นอื่นๆ นักลงทุนปัจจุบันให้ความสนใจกับธุรกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ เพราะมีศักยภาพในการเติบโตสูงในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล

ดังนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ ได้ หากไม่ได้มีปัจจัยใดมาทำให้สินค้าและบริการของไทย ที่ส่วนมากยังเป็นสินค้าการเกษตร อาหาร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน ของไทยมีมูลค่าสูงขึ้น หรือบริษัทไทยสามารถคิดค้นสินค้าและบริการ หรือเปิดธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ ก็ยากที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจะมาลงเงินกับหุ้นไทย และดันให้ดัชนีหุ้นไทยขึ้นทะลุ 2,000 จุดได้สำเร็จ

  • การเมืองไทยที่ไม่เคยนิ่ง และอาจไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

นอกจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และไม่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาอย่างตรงจุดแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาข้างต้นคือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งสำคัญมากต่อการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และประสิทธิภาพของนโยบายนั้นๆ

ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย ไทยมีการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง มากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วเป็นจำนวน 11 ราย รวมเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 60 ปี จากช่วงเวลา 90 ปีหลังไทยได้ประชาธิปไตย

จำนวนการรัฐประหารที่มีจำนวนมากกว่าปกติสะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทย เพราะในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องมีการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่ถูกแทรกแซงจากสถาบันอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การสืบทอดอำนาจและนโนบายเป็นไปอย่างราบรื่น “คาดการณ์ได้”

ดังนั้น เมื่อการเมืองไทยมีการผันผวนตลอดเวลา และยังมีการแบ่งขั้วรุนแรง จนทำให้การสืบทอดนโยบายเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอน คาดเดาไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนย่อมไม่ชอบ เพราะนักลงทุนชอบความมีเสถียรภาพและความชัดเจน และไม่มีใครอยากลงทุนในประเทศที่แนวทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของโลก ยังยึดติดอยู่กับอุตสาหกรรมเดิมๆ ไม่ลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย ทำให้ในสายตานักลงทุน หุ้นไทยแม้จะยังไม่ตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต เพราะมีภาคการท่องเที่ยวที่ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ไปได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก แต่ก็ไม่มีอนาคตในการเติบโต

นอกจากนี้ ภาคการผลิตและส่งออกของไทยยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสินค้าพื้นฐานไปเป็นสินค้าซับซ้อนมูลค่าสูงได้เหมือนประเทศรายได้สูงอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ทำให้ไม่มีจุดเด่น ไม่สามารถผลิตสินค้าระดับพื้นฐานแข่งกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า และในขณะเดียวกันก็ตามประเทศที่มีอุตสาหกรรมผลิตสินค้าระดับสูงไม่ทัน เพราะไม่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี และกำลังคน

โดยจากข้อมูลจากวิจัยของ KKP Research พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยหดตัวต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 ถึงมีนาคม 2024 และมีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง นับตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 

นี่ทำให้นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ไทยแทบจะไม่มีภาคส่วนอื่นใดมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนในหุ้นไทย เพราะภาคการท่องเที่ยวมีมูลค่าไม่สูง อีกทั้งยังอ่อนไหวกับปัจจัยภายนอกมาก เช่น เศรษฐกิจโลก โรคระบาด และสงคราม

 

อนาคตหุ้นไทย มีหวังจะเติบโตขึ้นไปถึง 2,000 จุดหรือไม่?

จากปัจจัยที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าปัญหาของหุ้นไทยเป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องใช้ระยะเวลาแก้ไขยาวนาน ไม่ใช่เพียงปัญหาระยะสั้นๆ เช่น การที่นักลงทุนต่างชาติเทขาย ทำชอร์ตเซลล์ หรือใช้เครื่องมือในการเทรด ซึ่งเป็นปัญหาปลายเหตุ ที่เกิดมาจากการที่หุ้นไทยไม่น่าดึงดูด หลงยุค และดูไม่มีศักยภาพในการเติบโตในสภาพเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

ดังนั้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานและวัฒนธรรมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ที่ให้มีประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ลดการแทรกแซงการเมืองเพื่อรักษาอำนาจและทรัพย์สินของตัวเอง หยุดการทุจริตคอร์รัปชั่น เห็นแก่ส่วนรวมไม่เห็นแก่ได้ และประชาชนต้องไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของตัวเอง ไม่ส่งต่อวัฒธรรมการเมืองน้ำเน่าให้แก่ลูกหลาน

และถ้าหากการเมืองมีเสถียรภาพ มีมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ทั้งภาคการผลิต ภาคการส่งออก หรือแม้แต่การบริโภคภายในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ออกมาสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะอยากเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็จะสามารถเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้ดัชนีหุ้นไทยมีทิศทางที่สดใสทัดเทียมกับตลาดหุ้นทั่วโลก






แชร์
10 ปีแล้วทำไมหุ้นไทยยังไม่ทะลุ 2,000 จุด เปิดปัจจัยทำนักลงทุนเทขาย ตลาดหุ้นไทยไม่ดึงดูด