ข่าวเศรษฐกิจ

'แบงก์ชาติจีน' จ่อปฏิรูปนโยบายการเงินครั้งใหญ่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

20 มิ.ย. 67
'แบงก์ชาติจีน' จ่อปฏิรูปนโยบายการเงินครั้งใหญ่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางจีนเตรียมปฏิวัติการดำเนินนโยบายการเงินครั้งใหญ่ เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง และยึดดอกเบี้ยระยะสั้นอัตราเดียวในการกำหนดดอกเบี้ย และกำหนดกรอบดอกเบี้ยให้แคบลงเพื่อให้การควบคุมอัตราดอกเบี้ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา นายพาน กงเซิง (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China) ได้ออกมาเผยถึงแผนปฏิรูปการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางจีนครั้งใหญ่ ทั้งด้วยการเข้าซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง (secondary market) และการยึดดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นอัตราเดียวในการควบคุมเสถียรภาพการเงินของประเทศ

การเปิดให้มีการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง จะทำให้ธนาคารกลางจีนสามารถควบคุมสภาพคล่องได้มากขึ้น และดูแลให้ปริมาณเงินในระบบอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การขายพันธบัตรรัฐบาลจะให้ผลตรงกันข้าม 

ในปัจจุบัน ธนาคารกลางจีนไม่สามารถเข้าไปซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรก (primary market) และไม่ควรเข้าไปซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนมักจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจด้วยการออกสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงินโดยนำพันธบัตรรัฐบาลมาค้ำประกัน หรือลดระดับเงินสดที่ธนาคารต่างๆ ต้องสำรองไว้กับธนาคารกลาง

 

เตรียมยึดดอกเบี้ยระยะสั้นอัตราเดียว ลดความสำคัญ MLF 

นอกจากการเข้าซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองแล้ว อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ นายพาน กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวของธนาคารกลาง คือ การเปลี่ยนไปใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอัตราเดียวเพื่อควบคุมดอกเบี้ยการกู้ยืมทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 4 อัตรา ได้แก่

  • 7-day interbank repo rate หรือ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร 7 วัน
  • 7-day reserve repo rate หรือ อัตราดอกเบี้ยการซื้อขายพันธบัตรระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ 7 วัน เพื่อควบคุมปริมาณการเงินในระบบ
  • PBOC 7-day standing lending facility rate เพดานของอัตราดอกเบี้ยจีน 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ธนาคารกลางให้สถาบันการเงินกู้ยืม
  • Interest rate on excess reserves หรือ ดอกเบี้ยเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารกลางจ่ายให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์สามารถนำไปปล่อยกู้หรือลงทุนได้

Louis Kuijs หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จาก S&P Global Ratings กล่าวว่า การเปลี่ยนไปใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอัตราเดียวที่มีความสอดคล้องกับตลาดการเงินในการนำเศรษฐกิจจะทำให้การควบคุมนโยบายการเงินทำได้ง่ายและโปร่งใสมากขึ้น เหมือนกับธนาคารกลางใหญ่อื่นๆ ในโลกที่ไม่ได้มีการใช่อัตรานโยบายหลายอัตราเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน

นอกจากนี้ การประกาศใช้ดอกเบี้ยระยะสั้นยังเป็นสัญญานสะท้อนว่า ธนาคารกลางจีนกำลังจะลดความสำคัญของ Medium-term lending facility rate (MLF) หรือ อัตราดอกเบี้ยที่ PBOC ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการสภาพคล่องจากธนาคารกลางลง ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ธนาคารกลางใช้อัดฉีดเงินทุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยดอกเบี้ยให้กับลูกค้าอีกทีหนึ่ง

ในปัจจุบัน MLF มีความสำคัญลดลง เนื่องจากธนาคารในจีนเริ่มหันมากู้ยืมเงินระหว่างธนาคารมากยิ่งขึ้น เพราะมีต้นทุนในการกู้ยืมต่ำกว่าการกู้ยืมจากธนาคารกลาง อีกทั้ง MLF ยังมีข้อจำกัด เพราะธนาคารกลางสามารถปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์บางธนาคารเท่านั้น ทำให้การควบคุมอัตราดอกเบี้ยในตลาดผ่าน MLF มีประสิทธิภาพน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ครอบคลุมอัตราการกู้ยืมของธนาคารในวงกว้าง เช่น 7-day interbank repo rate

ทั้งนี้ แม้การปฏิรูปโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยนี้จะทำให้รัฐบาลจีนสามารถควบคุมสภาพคล่องในตลาดได้ดีขึ้น แต่การปฏิรูปนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ที่จีนกำลังเผชิญอยู่ได้ นั่นก็คือ ภาวะเงินฝืด ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนและบริษัทเอกชนรัดเข็มขัดตัวเอง ไม่คิดที่จะกู้หนี้ยืมสินเพิ่มมาลงทุนหรือทำธุรกิจ เพราะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจจีนในการฟื้นตัว

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนยังต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะในปัจจุบันค่าเงินหยวนอ่อนลงมากจากแรงกดดันของดอลลลาร์สหรัฐ และสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และการลดดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงไปอีก

 

ที่มา: Bloomberg

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT