ข่าวเศรษฐกิจ

จีนเสนอลดภาษีรถยุโรป แลก ‘อียู’ ไม่ขึ้นภาษีอีวีจีน ชี้สงครามการค้าจะทำทั้งโลกล่มจม

25 มิ.ย. 67
จีนเสนอลดภาษีรถยุโรป แลก ‘อียู’ ไม่ขึ้นภาษีอีวีจีน ชี้สงครามการค้าจะทำทั้งโลกล่มจม

‘จีน’ เตรียมเสนอลดภาษีนำเข้ารถยุโรป เพื่อจูงใจให้เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์และเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป (อียู) กดดันให้อียูล้มเลิกแผนที่จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในวันที่ 4 ก.ค. ขณะที่นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลกว่า การกีดกันการค้าจะส่งผลเสียกับทุกฝ่าย และทำให้โลกตกอยู่ใน “วังวนการทำลายล้าง”

เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่องสำหรับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างชาติตะวันตกและจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังสหรัฐฯ ออกมาประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าอีวีจีนเป็น 100% ก่อนที่สหภาพยุโรปจะออกมาประกาศขึ้นภาษีอีวีจีนบ้าง หลังจากทำการสืบสวนแล้วเห็นว่า รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ผลิตอีวีในประเทศจีนจนมีราคาต่ำกว่าควรจริง สูงสุดรวม 48% โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค. นี้

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการภาษีดังกล่าว อียูได้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรถจีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเจรจา และพูดคุยถึงความเหมาะสมของระดับภาษีได้ เพราะมาตรการกำแพงภาษีของอียูไม่ใช่การเพิ่มแบบหว่านแหแบบสหรัฐฯ แต่แตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์

ล่าสุด แหล่งข่าวใกล้ชิดได้เปิดเผยแก่สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ‘หวัง เหวินเทา’ (Wang Wentao) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้กล่าวถึงแผนลดภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรปจากอียู ให้แก่ ‘โรเบิร์ต ฮาเบค’ (Robert Habeck) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งได้เดินทางไปเยือนจีน ในการประชุมวันเสาร์ โดยแลกกับการที่เยอรมนีจะต้องไปพูดคุยกับสหภาพยุโรปให้ยกเลิกแผนที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าอีวีจีน

ปัจจุบัน จีนเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรป 15% และเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของรถยุโรป โดยเฉพาะรถจากผู้ผลิตเยอรมนี โดยในปี 2023 Volkswagen Group ผู้ผลิตรถรายใหญ่ของเยอรมนี จำหน่ายรถยนต์ได้ถึง 3.236 ล้านคันในจีน

ดังนั้น หากจีนลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากเยอรมนีและยุโรปจริง จะส่งผลดีอย่างมากต่อผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนี ทั้ง Volkswagen Group, Mercedes-Benz Group AG และ BMW AG เพราะจะทำให้ราคารถยนต์ยุโรปในจีนถูกลง ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นยอดขายได้

 

ทำไมการจูงใจเยอรมนีอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามการค้า?

ข้อเสนอนี้ ถือว่า เป็นการเดินหมากครั้งสำคัญของจีนในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะปัจจุบัน หลายชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นชาติยุโรป และแคนาดา ได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในการเพิ่มภาษีนำเข้าหรือออกมาตรการกีดกันการค้าจีนเช่นกันในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ทำให้หากจีนจูงใจให้เยอรมนีเจรจากับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ ความกดดันนี้อาจจะลดลง

ที่สำคัญ คือ เยอรมนีเป็นชาติยุโรปที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจของอียูสูง เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอียู และมีโอกาสสูงที่จะยอมรับข้อเสนอของจีน เพราะผู้ผลิตรถยนต์เยอรมนีไม่พอใจอยู่แล้วที่อียูตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าอีวีจีน เพราะกลัวว่า จีนจะออกมาตรการโต้กลับ เช่น การขึ้นภาษีรถยนต์ยุโรป

โดยหลังจากอียูประกาศมาตรการภาษีดังกล่าวออกมา จีนก็ได้ออกมาแง้มแผนโต้ตอบแล้ว ทั้งการส่งสัญญาณว่า จีนจะเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรปเป็น 25% จาก 15% และการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าหรูอื่นๆ จากยุโรป เช่น บรั่นดีจากฝรั่งเศส และแฮมจากสเปน

นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ‘โอลาฟ ชอลซ์’ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี ยังได้ออดมากล่าวชัดเจนว่า รัฐบาลเยอรมนีมีความต้องการที่จะเจรจาหาทางออกกับจีน เพื่อจำกัดผลกระทบของกำแพงภาษีที่จะมีต่อเศรษฐกิจเยอรมนีให้น้อยที่สุด

นายกฯ จีนชี้สงครามการค้าทำร้ายทุกฝ่าย 

ในวันนี้ (25 มิถุนายน 2567) ‘หลี่ เฉียง’ (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ ‘ดาวอส ฤดูร้อน’ ว่า การออกมาตรการกีดกันการค้า การแบ่งขั้วการค้า และการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ระหว่างชาติต่างๆ จะ “ลากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วังวนการทำลายล้าง ที่การแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มข้นเพื่อแย่งส่วนแบ่ง จะทำให้ผลประโยชน์ร่วมโดยรวมลดลง”

นอกจากนี้ นายหลี่ ยังกล่าวปฏิเสธด้วยว่า นโยบายอุตสาหกรรมของจีนไม่ได้ทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นเกิน (oversupply) ของสินค้าในโลก และรัฐบาลจีนไม่ได้ตั้งใจผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากเพื่อตัดราคา หรืบิดเบือนกลไกตลาด แต่จีนมุ่งที่จะเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้า และทำการพัฒนาและวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ออกมา

นโยบายด้านเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลจีนที่เน้นพัฒนาการสร้างนวัตกรรม เพื่อลดอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่สำคัญต่างๆ ในโลก ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุขึ้น

สำหรับปีนี้ นายหลี่ คาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ตามเป้า 5% โดยรัฐบาลวางแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ซึ่งน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ แม้จะยังมีปัญหาในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

 

 

ที่มา: Bloomberg 1, Bloomberg 2



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT